วิธีการเกิดทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไม่เท่ากัน

  • เจมส์ กัลลาเฮอร์
  • ผู้สื่อข่าวสุขภาพและวิทยาศาสตร์ บีบีซี นิวส์
ทารก

ที่มาของภาพ, Getty Images

งานวิจัยร่วมของนักวิทยาศาสตร์จากสกอตแลนด์และเนเธอร์แลนด์บ่งชี้ว่า วิธีการเกิดของคนเรา โดยการคลอดตามธรรมชาติ หรือการผ่าคลอด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราตอบสนองต่อวัคซีนที่ได้รับไม่เหมือนกัน

ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ โรงพยาบาลสปาเนอ และศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอูเทรคต์ พบว่า ทารกที่เกิดโดยการคลอดตามธรรมชาติผ่านช่องคลอดมารดาจะมีการผลิตแอนติบอดี หรือสารภูมิคุ้มขึ้นเพิ่มเป็นสองเท่าหลังจากได้รับวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็ก

ขณะที่ทารกที่เกิดจากการผ่าคลอดก็ได้รับภูมิคุ้มกันเช่นกัน แต่อยู่ในระดับที่น้อยกว่า และจำเป็นต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ หรือรับวัคซีนเพิ่ม

นักวิจัยระบุว่า ความแตกต่างนี้เกิดจากแบคทีเรียชนิดดีที่ทารกได้รับตอนแรกเกิด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราออกจากโลกปลอดเชื้อในครรภ์มารดามาสู่โลกที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์

จุลินทรีย์คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และอาร์เคีย ซึ่งอาศัยในร่างกายของคนเรา และขยายพันธุ์จนในที่สุดมีจำนวนมากกว่า “เซลล์มนุษย์” ของเรา

สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่กลายเป็นส่วนประกอบครึ่งหนึ่งของตัวเรานี้เรียกรวมกันว่า ไมโครไบโอม (microbiome) และหนึ่งในบทบาทของมันคือการฝึกฝนระบบภูมิคุ้มกันของเราในช่วงต้นของชีวิต

Pregnant women

หากคุณคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ จุลินทรีย์ชนิดแรกที่คุณจะได้รับคือชนิดที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดของแม่ แต่การคลอดด้วยการผ่าตัดจะทำให้คุณได้จุลินทรีย์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งทีมนักวิจัยชุดนี้ต้องการทราบว่าความแตกต่างนี้จะส่งผลต่อการได้รับวัคซีนอย่างไร

พวกเขาจึงศึกษาไมโครไบโอมของทารก 120 คน ตั้งแต่ขี้เทา (meconium) ซึ่งเป็นอุจจาระครั้งแรกสุดของทารก ไปจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ขวบ

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications แสดงให้เห็นว่าเด็กที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติมีแบคทีเรียไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือ อีโคไล ชนิดที่เป็นประโยชน์ในระดับสูงกว่าเด็กที่เกิดจากการผ่าคลอด

นักวิจัยพบว่า เชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ทำให้เด็กที่คลอดทางช่องคลอดมีแอนติบอดีที่ได้จากวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นในระดับที่สูงกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดจากการผ่าคลอด นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อวัคซีนต้านไข้หวัดใหญ่ และวัคซีน BCG ที่ป้องกันวัณโรคด้วย

ศาสตราจารย์ เดบบี โบคาร์ต หัวหน้าแผนกกุมารเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยเอดินบะระ บอกกับบีบีซีว่า “การสื่อสารช่วงต้นระหว่างระบบภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์มีความสำคัญยิ่ง”

เธออธิบายว่า เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า กรดไขมันสายสั้น (short chain fatty acids) ที่จะบอกให้ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มทำงาน หากปราศจากแบคทีเรียเหล่านี้ เราจะมีการพัฒนาเซลล์บี (B cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยสร้างแอนติบอดีในการต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง

ทารกทุกคนที่เข้าร่วมในการวิจัยครั้งนี้ต่างเป็นทารกสุขภาพสมบูรณ์ และอยู่ในครรภ์มารดาจนครบกำหนด ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้จึงไม่หมายรวมถึงเด็กที่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือคลอดก่อนกำหนด

นักวิจัยชี้ว่า เด็กทุกคนที่เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้มีการสร้างแอนติบอดีหลังจากได้รับวัคซีน เพียงแต่เด็กที่เกิดจากการผ่าคลอดจะมีระดับสารภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม พวกเขาชี้ว่าข้อมูลที่ได้มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กที่เป็นโรคทางพันธุกรรม หรือคลอดก่อนกำหนด เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

จะเสริมภูมิคุ้มกันได้อย่างไร

ปัจจุบันการผ่าตัดทำคลอดเป็นสิ่งที่พบได้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยงว่าแม่หรือเด็กจะได้รับอันตรายจากการคลอดตามธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาเพื่อหาทางให้ทารกที่เกิดจากการผ่าตัดได้รับแบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในช่องคลอดมารดา ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ทำกันในปัจจุบันคือการป้ายแบคทีเรียในช่องคลอดให้ทารก (vaginal seeding) รวมถึงการปลูกถ่ายอุจาระ (faecal transplant) ซึ่งเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียในลำไส้มารดาให้แก่ทารก เพื่อให้เด็กแรกเกิดได้รับแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ โบคาร์ต บอกว่า ในทางปฏิบัติวิธีเหล่านี้มีความซับซ้อน และแพทย์จะต้องทำอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่เด็ก

ดังนั้นเธอจึงแนะนำวิธีการที่ปลอดภัยกว่านั่นคือ การให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่เป็นประโยชน์ชนิดต่าง ๆ แก่เด็กที่เกิดจากการผ่าคลอด หรืออาจให้วัคซีนเพิ่มแก่เด็กเหล่านี้

ศาสตราจารย์นีล แมปบอตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากสถาบันโรสลิน แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าระดับของจุลินทรีย์ในร่างกายจะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มของแอนติบอดีหลังได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่างานวิจัยชิ้นนี้เพิ่มความเป็นไปได้ในการรักษาทารกแรกเกิด โดยเฉพาะเด็กที่เกิดจากการผ่าคลอด ว่าการให้แบคทีเรียเพิ่ม หรือผลิตภัณฑ์จากแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้มีการตอบสนองต่อวัคซีนดีขึ้น

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว