แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ เปิดใจ “ผมหวังจะหาเงินมาใช้คืนผู้คน”

แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท เอฟทีเอ็กซ์ ผู้ให้บริการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก  ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวบีบีซี เปิดเผยว่า เขาหวังจะเริ่มธุรกิจใหม่ เพื่อทำเงินให้มากพอมาชำระคืนแก่เหล่าเหยื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของเอฟทีเอ็กซ์

ชายผู้เคยได้ฉายาว่า “ราชันแห่งคริปโต” วัย 30 ปี กำลังเผชิญกับการสอบสวนของรัฐบาลกลางหลายคดี ต่อการบริหารเงินในบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ที่อาจเข้าข่ายฉ้อฉล

แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้เชิญทีมข่าวบีบีซีไปยังที่พักหรูในบาฮามาส เพื่อให้สัมภาษณ์พิเศษ โดยเขายอมรับกับบีบีซีว่า เขา “ไม่ได้เก่งกาจอย่างที่เขาคิดว่าตนเองเป็น”

แบงค์แมน-ฟรายด์
BBC “ผมกำลังคิดถึงวิธีที่เราจะช่วยโลก แต่ถ้าผู้ใช้ของเราไม่ได้คืนสิ่งที่พวกเขาสมควรได้อย่างเหมาะสม ผมก็กำลังคิดว่ามีอะไรที่ผมทำเพื่อพวกเขาได้” แบงค์แมน-ฟรายด์

เขายังยอมรับ ตนเองกังวลว่าจะถูกจับกุม “ในช่วงที่ครุ่นคิดกลางดึก”

แพลตฟอร์มเอฟทีเอ็กซ์ ช่วยให้ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนเงินปกติ กับคริปโตเคอร์เรนซี อาทิ บิทคอยน์ ได้

แต่เมื่อเดือน พ.ย. มีการเปิดโปงว่าบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ และบริษัทอีกแห่งของแบงค์แมน-ฟรายด์ คือ อะลาเมดา รีเสิร์ช กำลังอยู่ในสภาวะการเงินไม่มั่นคง

หลังมีการตีแผ่ข่าวฉาวดังกล่าว ทุกอย่างก็พังทลายจนแบงค์แมน-ฟรายด์ ต้องยื่นล้มละลาย ในเวลาเพียง 8 วัน

ประเมินว่ามีผู้ใช้แพลตฟอร์มเอฟทีเอ็กซ์กว่า 1 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงคริปโตวอลเล็ท และเข้าถึงเงินของตนเองในระบบได้

ปัจจุบัน แบงค์แมน-ฟรายด์ ยังอาศัยอยู่ที่บ้านพักของเขาในบาฮามาส โดยเขาเปิดใจกับบีบีซีว่า เขาหวังว่าจะมีหนทางที่จะชดใช้ให้กับเหล่าผู้ใช้เอฟทีเอ็กซ์

“ผมกำลังคิดถึงวิธีที่เราจะช่วยโลก แต่ถ้าผู้ใช้ของเราไม่ได้คืนสิ่งที่พวกเขาสมควรได้อย่างเหมาะสม ผมก็กำลังคิดว่ามีอะไรที่ผมทำเพื่อพวกเขาได้” แบงค์แมน-ฟรายด์ กล่าว

“และผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ผมติดค้างผู้ใช้เอฟทีเอ็กซ์ และควรแก้ไขในสิ่งผิดให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

บีบีซีถามว่า เขามีแผนจะลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อหาเงินมาชดใช้คืนนักลงทุนหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้ และผมจะพยายามถ้าทำได้”

ทนายความที่เชี่ยวชาญด้านคดีล้มละลายหลายคน มองว่า ข่าวอื้อฉาวของเอฟทีเอ็กซ์ ถือเป็น “หนึ่งในการล่มสลายที่ปัจจุบันทันด่วนที่สุดกรณีหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจของอเมริกา”

ทนายความเหล่านี้ กล่าวหา แบงค์แมน-ฟรายด์ ว่า บริหารบริษัทเหมือน “อาณาจักรส่วนบุคคล”

คณะกรรมาธิการวุฒิสภาของสหรัฐฯ ต้องการให้อดีตซีอีโอของเอฟทีเอ็กซ์ ขึ้นให้การในการพิจารณาการล่มสลายของบริษัท ในสัปดาห์หน้า และแบงค์แมน-ฟรายด์ ก็ยืนยันเมื่อวันศุกร์ (9 ธ.ค.) ว่าเขาจะขึ้นให้การ

ในลิสต์รายการของการบริหารงานที่ผิดพลาดของแบงค์แมน-ฟรายด์ คือ ข้อกล่าวหาว่าบริษัท อะลาเมดา รีเสิร์ช ของเขา ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ ที่มุ่งแสวงหาผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดี ได้ใช้เงินของลูกค้าเอฟทีเอ็กซ์ ไปลงทุนทางการเงินที่เสี่ยงมาก

เขาให้สัมภาษณ์บีบีซีที่รีสอร์ทหรูในบาฮามาส
BBC เขาให้สัมภาษณ์บีบีซีที่รีสอร์ทหรูในบาฮามาส

อดีตพนักงานอาวุโสคนหนึ่งของเอฟทีเอ็กซ์ ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับแบงค์แมน-ฟรายด์ บอกกับบีบีซีว่า เขาคิดว่าอดีตซีอีโอเอฟทีเอ็กซ์ ควรต้องรู้ว่า บริษัท อะลาเมดา รีเสิร์ช กำลังใช้เงินทุนของลูกค้าในการลงทุน

เขายังกล่าวหาแบงค์แมน-ฟรายด์ ว่าโกหกในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ อ้างว่า ตนเองไม่รู้ว่ามีการไหลเข้าออกของเงินสดและคริปโตเคอร์เรนซี ระหว่างสองบริษัท

“นั่นไม่เป็นความจริง” แบงค์แมน-ฟรายด์ ระบุ แต่เขาก็ยอมรับว่า ในฐานะซีอีโอ เขามีส่วนรับผิดชอบต่อการบริหารเงินที่ผิดพลาด “ผมต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง”

เมื่อถามว่า เขาฉ้อฉลและไร้ศักยภาพจริงหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมไม่รู้ตัวเลยว่าฉ้อฉล และผมไม่คิดว่าผมโกงเงินใคร ผมไม่ต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ผมก็ยอมรับว่า ผมไม่ได้เก่งกาจอย่างที่ผมคิดว่าผมเป็น”

ในช่วง 6 วันที่ผ่านมา แบงค์แมน-ฟราย ได้ให้สัมภาษณ์แบบมาราธอนมาแล้ว 9 ครั้ง

ทีมงานของเขาระบุว่า พวกเขาต้องย้ายไปสถานที่ลับภายในรีสอร์ทหรู เพื่อ “ความปลอดภัย” หลังผู้สื่อข่าวบางคน แอบถ่ายภาพแบงค์แมน-ฟรายด์ ได้ ด้วยการใช้เลนส์ซูมจากทะเล และมียูทูบเบอร์อย่างน้อย 2 คน ลักลอบเข้าไปถ่ายทำภายในบ้านพักของแบงค์แมน-ฟรายด์ ได้สำเร็จ

แบงค์แมน-ฟรายด์ ซึ่งมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย อ้างว่า เขาวิตกต่อสถานะทางการเงินส่วนตัว เพราะเขาเข้าถึงบัญชีธนาคารไม่ได้ และ “เหลือเงินไม่ถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ”

เมื่อถามว่า เขาพร้อมสำหรับโอกาสที่เขาจะถูกจับและจำคุกหรือไม่ เขาตอบว่า “เวลาที่ผมครุ่นคิดตอนกลางดึก ใช่ ผมคิดว่ามีโอกาส แต่เมื่อผมตื่นขึ้นมา และมีสมาธิในเช้าวันต่อผม ผมพยายามจะมีผลิตภาพให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และไม่สนใจสิ่งที่ผมควบคุมไม่ได้”

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว