จาก “เที่ยวแบบ VVIP” ถึงตำรวจ “รีดไถเงิน” ดาราไต้หวัน เสี่ยงทำ “แบนเที่ยวไทย” กลับมา ?

เพียงไม่ถึงสัปดาห์หลังสังคมไทยพูดถึงการอำนวยความสะดวกระดับ “VVIP” ของตำรวจไทยให้นักท่องเที่ยวสาวชาวจีน มาวันนี้วงการสีกากีถูกวิจารณ์หนักยิ่งขึ้นไปอีก หลังดาราสาวชาวไต้หวัน ที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงเดือน ม.ค. 2566 เปิดใจว่า ถูกตำรวจไทย “รีดไถเงิน 27,000 บาท”

ผู้ตีแผ่ข่าวดาราสาวไต้หวันถูกตำรวจไทย “รีดทรัพย์” คือ เพจเฟซบุ๊ก “หนีห่าวไต้หวัน ฉันมาแล้ว” โดยระบุว่า นักแสดงสาวชาวไต้หวันคนดังกล่าว คือ อัน หยูชิง หรือ ชาลีน อัน (Chalene An) ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ดาราสาวโพสต์ในแอปพลิเคชั่นอินสตาแกรมว่า “ก่อนกลับไต้หวัน 1 วัน ขณะนั่งรถแท็กซี่กับเพื่อน ๆ กลับโรงแรม ระหว่างทางช่วงราว ตี 1 กว่า ๆ กลับถูกตำรวจที่ตั้งด่านเรียกให้รถหยุดและขอค้นตัว ค้นกระเป๋า โดยมีการมาจับค้นที่กระเป๋ากางเกง และกระเป๋าสตางค์ มีการถามถึงเรื่องวีซ่า”

.

Chalene An / Getty Images
ดาราสาวไต้หวันระบุว่า ถูกตำรวจไทยรีดไถเงินเกือบ 3 หมื่นบาท

เมื่อเธอยื่นหนังสือเดินทางให้ตำรวจและอธิบายว่าได้รับวีซ่า VOA หรือ Visa on Arrival เข้าประเทศไทย แต่ตำรวจกลับไม่ยอมรับวีซ่า VOA ของเธอและเพื่อน ๆ โดยอ้างว่า ต้องเป็นวีซ่าจริง มีตราและพิมพ์บนหนังสือเดินทางเท่านั้น

พวกเธอพยายามอธิบายกับตำรวจที่มีท่าทีต้องสงสัย จนสถานการณ์ยื้อไปนานกว่า 2 ชั่วโมง ท้ายสุด ตำรวจพาเธอไปที่ลับตาคน แล้วระบุว่า “ทั้งหมดในรถต้องจ่ายมา 27,000 บาท ถึงจะยอมปล่อย”

“ไม่คิดเลยว่า ไปเที่ยวปีใหม่ที่ไทยหวังเจอประสบการณ์ดี ๆ แต่กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายและน่ากลัวที่สุดในชีวิต และฉันจะไม่ไปเหยียบเมืองไทยอีก”

“ลาก่อน กรุงเทพห่วย ๆ” ดาราสาวระบุในอินสตาแกรม

ด้านโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันนี้ (26 ม.ค.) ถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ตอนนี้ กำลังเร่งสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตำรวจรีดไถเงินนักแสดงไต้หวันรายนี้จริงหรือไม่ เบื้องต้นยืนยันว่า ชาลีน อัน เดินทางมาไทยในช่วงนั้นจริง

บีบีซีไทยได้ติดต่อ สำนักเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้แทนไต้หวันในไทย ถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยได้รับแจ้งว่าจะออกแถลงการณ์ถึงเรื่องนี้ในเร็ว ๆ นี้

ชาลีน อัน หรือ อัน ยู๋ชิง ที่ระบุว่าถูกตำรวจไทยรีดไถเงิน

IG: Chalene_An517
ชาลีน อัน หรือ อัน ยู๋ชิง ที่ระบุว่าถูกตำรวจไทยรีดไถเงิน

สำหรับ ชาลีน อัน ปัจจุบัน อายุ 33 ปี เกิดในกรุงไทเปของไต้หวัน เป็นนักแสดงและนางแบบที่เป็นที่รู้จักจากเรื่อง Perfect Girl, Fall in love with you drunk, และ Counting นอกจากนี้ เธอยังมีผลงานหนังสั้นที่ฉายผ่านอินเทอร์เน็ตอีกหลายเรื่องด้วย

จากความทรงจำดี ๆ กลายเป็นเรื่องราวสยองขวัญ

จากการตรวจสอบสำนักข่าวออนไลน์ไต้หวัน พบว่า มีการรายงานพร้อมคลิปสัมภาษณ์ ชาลีน อัน ในสำนักข่าว 2-3 แห่ง รวมถึง Mnews และ TVBS โดยพาดหัวข่าวว่า “ดาราสาวถูกตำรวจไทยจับ เพื่อขู่ไถเงิน” ขณะที่อินสตาแกรมของชาลีน อัน ที่ใช้ชื่อว่า “Charlene_an517” ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 110,000 คน มีการโพสต์ “สตอรี” เรื่องราวการมาท่องเที่ยวประเทศไทยของเธอ ที่ในภาพหลัง ๆ เป็นการเล่าถึงสิ่งที่เธอกับเพื่อน ๆ เผชิญกับตำรวจไทย

เนื้อหาตรงกับที่ “หนีห่าวไต้หวัน ฉันมาแล้ว” คือ ชาลีน อัน และเพื่อน ๆ กำลังนั่งรถกลับโรงแรมช่วงหลังเที่ยงคืน แต่กลับถูกตำรวจตั้งด่านเรียกให้รถหยุด เพื่อขอดูวีซ่า

Mnews

Mnews
บทสนทนาระหว่างชาลีน อัน และตำรวจไทย ที่สื่อไต้หวันรายงาน

คนในกลุ่มเธอพยายามอัดคลิปเพื่อเป็นหลักฐาน แต่เจ้าหน้าบอกให้ลบคลิป ยื้อไปมาเจรจาตกลงกัน เธอเล่าต่อว่าเขาจะพาไปสถานีตำรวจ เธอก็ตอบว่ายินดีไป แต่ท้ายสุดตำรวจไม่ได้พาพวกเธอไปสถานีตำรวจ

ช่วง 2 ชั่วโมงที่พูดคุยและเจรจากันอยู่นั้น ชาลีน อัน พยายามพูดขอโทษ รวมถึงเป็นภาษาไทยที่เธอพอพูดได้ และกล่าวเชิง “อ้อนวอน” เพราะเธอไม่ได้ทำอะไรผิดและกำลังกลัวมาก “มันราวกับหนังเม็กซิกันที่จับผู้ค้ายาเลย” ทั้งที่พวกเธอเป็นแค่นักท่องเที่ยว

ชาลีน อัน เล่าให้สื่อไต้หวันฟังว่า พยายามอ้อนวอนถึงขั้น “เกือบก้มกราบ” และเกือบ “คุกเข่าไหว้” ก่อนที่ตำรวจนายนั้นจะพาเธอไปที่ลับตาคน โดยมีพฤติการณ์หลบกล้องวงจรปิดของสถานเอกอัครราชทูตจีน แล้วรีดไถเงินพวกเธอว่า “ต้องจ่าย 27,000 บาท ถึงจะยอมปล่อย”

เมื่อพวกเธอยอมจ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเรียกแท็กซี่ให้พวกเธอกลับโรงแรม โดยเธอเล่าว่า ใกล้ ๆ ตัวเธอในเวลานั้น มีนักท่องเที่ยวที่คาดว่าเป็นหญิงเกาหลีใต้ 5 คน ที่เจอสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

“ลาก่อน กรุงเทพห่วย ๆ” ดาราสาวระบุในอินสตาแกรม

Mnews
“ลาก่อน กรุงเทพห่วย ๆ” ดาราสาวระบุในอินสตาแกรม

“ฉันอยากเตือนคนไต้หวันว่า จะไปไทยให้ระวัง อย่าพกเงินสดติดตัวในกระเป๋าเยอะ เพราะโดนสุ่มค้นตัวมา หาเรื่องยัดข้อหา พวกนั้นจับดูกระเป๋าเงินก่อน ให้ระวังดี ๆ” ชาลีน อัน ให้สัมภาษณ์สื่อไต้หวัน หลังโพสต์ในอินสตาแกรมของเธอ กลายเป็นที่พูดถึง

“เพราะพวกเขาขาดรายได้จากการท่องเที่ยวมานานช่วงโควิด พอเปิดประเทศจึงกลายเป็นมีแต่ปัญหาแบบนี้”

ในโพสต์อินสตาแกรมของ ชาลีน อัน ตอนนี้ มีคนไทยเข้าไปคอมเมนต์ และแสดงการขอโทษในฐานะคนไทยหลายคน

คำชี้แจงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันนี้ (26 ม.ค.) ถึงกรณีนักแสดงสาวไต้หวันถูกตำรวจรีดไถเงิน เบื้องต้น ให้คำมั่นว่า “จะทำทุกช่องทางให้ความจริงกระจ่าง” แต่ขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

ในชั้นนี้ ตำรวจทราบยี่ห้อรถยนต์ที่ชาลีน อัน ใช้โดยสารระหว่างอยู่ไทยแล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการตรวจสอบหาที่พักของเธอ ตรวจหาทะเบียนรถ และนำตัวคนขับรถมาให้การ เพื่อชี้ชัดว่า เกิดกรณีตำรวจตั้งด่านและรีดไถเงินจริงหรือไม่

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Police TV
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่วนการเดินทางมาไทยของ ชาลีน อัน นั้น เชื่อว่า “มีลักษณะเป็นเน็ตไอดอล ไปเที่ยวเช็คอินศาลพระพรหมเอราวัณ ร้านกาแฟย่านทองหล่อ และทำกิจกรรมท่องเที่ยว” ไม่ได้มารับงานแสดงในไทยแต่อย่างใด

โฆษกสำนักงานตำรวยแห่งชาติ ระบุว่า หากมีข้อมูลคืบหน้า จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ตำรวจฉาวรายวัน

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ดาราสาวชาวไต้หวันรีวิวเที่ยวประเทศไทยโดยอ้างว่าถูกตำรวจค้นตัวรีดไถเงิน กว่า 27,000 บาทว่า องค์กรตำรวจมีข่าวฉาวรายวัน เปิดปีใหม่มา ก็มีแต่ข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นของตำรวจ ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาคล้ายกัน เช่น การรีดไถและปัญหาส่วย

หากดูโครงสร้างภายในของตำรวจ คนที่มีอำนาจสูงสุดไม่ใช่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงอยากตั้งคำถามว่าวันนี้ รัฐบาลกำลังทำอะไร เหตุใดจึงมีปัญหาตำรวจทุจริตและรีดไถรายวัน สำหรับกรณีการรีดไถดาราสาวชาวไต้หวันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการทำลายการท่องเที่ยวของประเทศไทย แม้จะมีการตั้งกรรมการสอบแต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผลสอบที่ชัดเจน แต่ไม่มีการป้องกัน จึงไม่เคยเห็นมาตรการป้องกันที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือรัฐบาลชุดนี้

“แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ทำอะไรอยู่ไม่มาตอบกระทู้สภา วันนี้อาชีพหลักยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ หรือเป็นอาชีพสำรองหรืออาชีพเสริมไปแล้ว เพราะไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหา มีรัฐบาลที่มีก็เหมือนไม่มี นี่จึงเป็นเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐกร่างได้ถึงขนาดนี้ รีดไถกันอย่างมุมมามโดยไม่ได้แคร์ว่ากฎหมายจะเอาผิดได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษแทนคนไทยที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งอาจจะมีนักท่องเที่ยวอีกหลายรายเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ แต่ไม่มีโอกาสได้พูดหรือโพสต์ลงโซเชียล ตนเองในฐานะเจ้าบ้านก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และเชื่อว่า ยังมีตำรวจอีกเยอะที่ตั้งใจทำงานอย่างสุจริต ส่วนที่มีการรีดไถก็เชื่อว่าเป็นส่วนน้อย และพยายามตั้งเป้าไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก เพื่อให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในประเทศไทยจะได้รับประสบการณ์ที่ดี

วงการสีกากีอื้อฉาวรับนักท่องเที่ยวจีนกลับไทย

นับแต่รัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ทำให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ และกลับเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น และหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักคือประเทศไทย ก็เกิดกรณีอื้อฉาวเชื่อมโยงกับตำรวจไทยหลายอย่างต่อเนื่อง

กรณีที่เป็นข่าวมากที่สุด คือ กรณีปมจ้างตำรวจนำขบวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางจากสนามบินถึงที่พัก ที่ต้นตอมาจากนักท่องเที่ยวสาวจีนที่โพสต์คลิปดังกล่าวลงใน Douyin หรือ ติ๊กต่อก ในประเทศจีน

สำหรับคลิปดังกล่าวมีความยาวราว 2 นาที นักท่องเที่ยวสาวชาวจีน อธิบายการทดสอบใช้บริการตำรวจไทยว่าใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างตามคำร่ำลือจริงหรือไม่ ในคลิปดังกล่าวยังมีภาพตำรวจไปรับถึงประตูเครื่องบิน เดินนำทาง ยกกระเป๋า เปิดประตูรถให้ ขับรถนำเปิดไฟฉุกเฉินไซเรน ในรูปแบบการบริการแตกต่างตามลักษณะพาหนะนำขบวน เช่น หากเป็นรถจักรยานยนต์สนนราคา 6,000 บาท และหากเป็นรถยนต์ราคาอยู่ที่ 7,000 บาท

ต่อมาหลังจากการตรวจสอบเบื้องต้น พล.ต.ต. อภิชาติ สุริบุญญา โฆษกกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวออกมายอมรับว่า มีข้าราชการตำรวจสังกัดตำรวจท่องเที่ยวจำนวน 1 ราย ปรากฏอยู่ในคลิปดังกล่าว คือ ร.ต.อ. สมพล ภิญโญสโมสร ตำแหน่ง รองสารวัตร กองกำกับการ 3 (รับผิดชอบสนามบินสุวรรณภูมิ) สังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1

ส่วนเหตุการณ์ในคลิป เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สายการบินฮ่องกงแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ HX671 เดินทางเข้าไทยพอดี ซึ่งตรวจสอบในวันดังกล่าวแล้ว ทางกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวไม่มีได้มีการสั่งการใดๆ ให้ตำรวจท่องเที่ยวสุวรรณภูมิอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวรายใดเป็นกรณีพิเศษ

https://twitter.com/sayompoo_eric/status/1616697111755755521?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1616812229999071232%7Ctwgr%5E39e054c08c74911a8ae9e501c78f4b9dc39ad4e8%7Ctwcon%5Es3_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.bbc.com%2Fthai%2F64364017

ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวได้สั่งการแล้วให้กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 ต้นสังกัดของ ร.ต.อ.สมพล ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนแล้วรีบรายงานให้ทราบ

แต่ระหว่างที่ตำรวจกำลังสืบสวนกรณี “เที่ยวไทยแบบ VVIP” เพจ “ลุยจีน” ที่ทำเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศจีน ได้โพสต์ถึง “รีวิวการสั่งซื้อบริการ Thailand Fast Pass” เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566

ลุยจีน ระบุว่า คนจีนสามารถเข้าถึงบริการ “ช่องทางพิเศษ” ในไทย ได้อย่างง่ายดาย และบางบริการระบุเนื้อหาชัดว่า มีตำรวจคอย อ.น. หรือ อำนวยความสะดวก

“เท่าที่แสดงมาในโพสต์บริการส่วนใหญ่จะคล้าย ๆ กันหมด คือ เป็นพาผ่านด่าน ตม. ไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต แบบ ไม่ต้องต่อแถว ไม่ต้องกรอกเอกสาร ไม่ต้องแสดงยอดเงินในบัญชี เลือกทำ Visa on arrival ได้

“ถ้าเจ้าหน้าที่หน้างานบริการดี จะหยอดเพิ่มให้เค้า 200-300 เป็นสินน้ำใจก็ไม่ว่ากัน ใช้บริการเสร็จอย่าลืมไปรีวิวความประทับใจพร้อมให้คะแนน 5 ดาวเพื่อเป็นกำลังใจให้ ‘บริษัททัวร์’ ที่มาเปิดร้านด้วยนะ”

Thailand Fast Pass ซื้อได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ในจีน

FB: ลุยจีน
Thailand Fast Pass ซื้อได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ในจีน

สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เจาะลึกเรื่องนี้ ด้วยการสอบถามกับมัคคุเทศก์ไทย ที่นำเที่ยวให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมานานกว่า 25 ปี พบว่า มีการให้บริการลักษณะนี้มาหลายสิบปีแล้ว เพราะบริษัททัวร์ในจีนต้องการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

มัคคุเทศก์ชาวไทยคนนี้ อธิบายว่า จุดเริ่มต้นมาจากกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่มาไทย และในกลุ่มจะมีผู้บริหารมาด้วย ดังนั้น เพื่อเสริม “ความหรูหรา” จึงประสานกับเจ้าหน้าที่ภายในสนามบินว่าเป็นวีไอพี ให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการพาออกมา

ต่อมามีการพัฒนา จนกลายเป็นบริการเสริม ประสานผ่านมัคคุเทศก์ไทยที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ภายใน แต่ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวจีน สามารถซื้อตั๋ว และแพ็คเกจนี้จากเมืองจีนได้เลย ผ่านระบบออนไลน์

“แบนเที่ยวไทย” จะกลับมา

กระแสด้านลบ และการเป็นไวรัลของเนื้อหาที่สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับการท่องเที่ยวในประเทศไทย อันที่จริงเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงปี 2561 จากประเด็นการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวไทย

สังคมออนไลน์ เว่ยป๋อ ในช่วงนั้น เมื่อค้นคำว่า “ไทย” จะพบหัวข้อมากมาย อาทิ ไทยทำร้ายนักท่องเที่ยวจีน อย่ามาประเทศไทย ระวังไทยอันตราย และอื่น ๆ อีกมาก

บีบีซีไทย เคยพูดคุยกับผู้ประกอบการจีนในภูเก็ตที่เล่าว่า ช่วงนั้น มีการเผยแพร่วิดีโอฉีดยาฆ่ายุงลายในภูเก็ต พร้อมคำอธิบายว่า “มาไทยระวังยุงกัด เป็นไข้เลือดออก ตายแล้ว 69 คน” ช่วงนั้น แหล่งข่าวเล่าว่า มีข่าวลักษณะนี้เกี่ยวกับไทย แทบจะทุกวัน คอมเม้นต์ของชาวจีนนั้น ก็รุนแรงมาก

.

Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai
สื่อออนไลน์จีน รายงานข่าวการฉีดยาฆ่ายุงลายในภูเก็ต อ้างไข้เลือดออกทำคนตาย 69 คน เมื่อปี 2561

ต้นตอของกระแสเหล่านี้ ยังมาจากกรณี “เรือล่มภูเก็ต” หลังเรือโดยสารฟีนิกซ์จมลงใกล้เกาะเฮ ทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต 47 ราย บาดเจ็บ 37 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวจีน

เหตุเรือล่มในพื้นที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมยอดผู้ประสบภัยทั้งสิ้น 149 คน นอกจากเหตุเรือ “ฟีนิกซ์” ล่ม ยังมีเหตุเรือ “เซเรนาต้า” ล่มบริเวณเกาะไม้ท่อน โดยมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 42 คน และเรือเจ็ทสกีของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย 2 คนล่มใกล้เกาะราชา แต่เจ้าหน้าที่ได้ระดมค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งหมดได้แล้ว

ความไม่พอใจของชาวจีนยังถูกกระพือขึ้น จากความเห็นของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวว่า “คนจีนเป็นเป็นคนนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวเขา เขาทำของเขาเอง เขาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เราจะให้ไปเรียกความเชื่อมั่นได้อย่างไร”

พล.อ. ประวิตร ยังได้ตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเหตุเกิดเพราะ “บริษัทจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยใช้นอมินีของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินคดีอยู่ โดยเรื่องนี้จะต้องดำเนินการแก้ไขและไทยก็มีกฎหมายของไทยอยู่

โกลบอล ไทมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางการจีนภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เขียนไว้ในบทบรรณาธิการภาษาจีนวิจารณ์ว่า ถ้อยคำของ พล.อ. ประวิตร นั้น “คิดน้อยเกินไป” และ “ไม่เหมาะสม”

ญาติผู้เสียชีวิตหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจจากเหตุเรือล่ม

Getty Images
ญาติผู้เสียชีวิตหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจจากเหตุเรือล่ม

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้ชี้ด้วยว่า “นี่เป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมาก ไม่ว่าผู้บริหารของบริษัทนำเที่ยวนั้นจะมาจากประเทศใด แต่เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะเลี่ยงจากความรับผิดชอบนี้ได้”

และ”เนื่องจากมีชาวจีนหลายคนเสียชีวิต ทำให้ชุมชนจีนเกิดความไม่พอใจอย่างมาก และหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในจีน เราก็คงจะรับผิดชอบกับการแสดงความเห็นสาธารณะใด ๆ ออกมา”

ในปี 2559 ก็เกิดกรณี นักท่องเที่ยวจีน “แบนเที่ยวไทย” เช่นกัน จากปัญหาเรื่องทัวร์แบบประหยัดที่แฝงบังคับซื้อสินค้า การทิ้งลูกทัวร์ ไม่นับปัญหาเที่ยวบินล่าช้าอื่น ๆ

 

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว