

ทางการจีนยอมรับว่า บอลลูนที่ตรวจพบบินอยู่เหนือพื้นที่สำคัญทางการทหารของสหรัฐฯ เป็นของตนเอง แต่ยืนยันว่าเป็นเพียง “เรือเหาะตรวจสภาพอากาศ” ที่มีจุดประสงค์เพื่อการวิจัย แต่บอลลูนถูกกระแสลมพัดออกนอกทิศทางอย่างไม่คาดคิด
ทีมข่าว Reality Check ของบีบีซีจะพาไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างนี้ว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
บอลลูนถูกพบที่ใดบ้าง
มีรายงานการพบเห็นบอลลูนดังกล่าวบินผ่านเขตประเทศแคนาดา ก่อนจะไปปรากฏอยู่ที่เมืองบิลลิงส์ รัฐมอนแทนา เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งชาวเมืองสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ได้ใช้อากาศยานที่มีคนขับติดตามบอลลูนนี้ไปทั่วน่านฟ้าสหรัฐฯ และพบว่าบอลลูนวนเวียนอยู่เหนือรัฐมอนแทนา อันเป็นที่ตั้งของ 1 ใน 3 ฐานยิงระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ฐานทัพอากาศมาล์มสตรอม เจ้าหน้าที่ระบุว่า ดูเหมือนว่าบอลลูนดังกล่าวจะบินเหนือพื้นที่เปราะบางเหล่านี้เพื่อเก็บข้อมูล

ถูกลมพัดออกนอกทิศทาง ?
จีนระบุว่า กระแสลมตะวันตกกำลังแรงได้พัดให้บอลลูน ซึ่งมี “ความสามารถในการบังคับทิศทางด้วยตนเองอย่างจำกัด” บินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้
ไซมอน คิง นักอุตุนิยมวิทยาของบีบีซีระบุว่า ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกที่คั่นระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้น มักมีกระแสลมตะวันตก ที่พัดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก
เขากล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ความเร็วลมเหนือระดับความสูง 30,000 – 40,000 ฟุต (9,000 – 12,000 เมตร) อยู่ที่ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมากกว่า ในบริเวณนี้ของมหาสมุทรแปซิฟิก”
รูปแบบของกระแสลมทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาน่าจะพัดพาบอลลูนจากทิศเหนือไปยังทิศตะวันตก สู่รัฐอะแลสกา จากนั้นก็พัดจากทิศใต้ไปยังทิศตะวันตก ผ่านแคนาดาสู่รัฐมอนแทนา
- “บอลลูนสอดแนม” จีนในอเมริกา ทำ รมว. ตปท. สหรัฐฯ เลื่อนเยือนปักกิ่ง
- จีนสอดแนมนักข่าวโดยแบ่งประเภทตามสีไฟจราจร
สายลับจีน : อยู่ที่ไหนก็ไม่พ้นเงื้อมมือรัฐบาลจีน จ้างคนอเมริกันติดตามคนจีนในสหรัฐฯ
เขาอธิบายต่อว่า “บอลลูนตรวจสภาพอากาศส่วนใหญ่จะลอยอยู่เหนือระดับความสูง 100,000 ฟุต จากนั้นจะถูกลมพัดจนแยกตัวออกจากกันในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โดยที่อุปกรณ์จะตกลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพ มันเป็นเรื่องผิดปกติที่บอลลูนตรวจสภาพอากาศลอยอยู่ได้นานหลายวันขนาดนี้”
ดร. มารินา มิรอน นักวิจัยด้านกลาโหมจากคิงส์คอลเลจลอนดอน ชี้ว่า บอลลูนดังกล่าวอาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่จีนอ้าง
เธอสันนิษฐานว่า “บอลลูนอาจถูกควบคุมจากระยะไกลด้วยคนควบคุมที่อยู่ทางภาคพื้น…พวกเขาอาจสามารถเพิ่มหรือลดระดับความสูงในการบินของบอลลูน เพื่อให้สามารถเกาะกระแสลมชนิดต่าง ๆ ซึ่งพัดพาไปในทิศทางที่แตกต่างกัน”
“ผู้บังคับน่าจะต้องการให้บอลลูนวนเวียนอยู่เหนือจุดที่ต้องการเก็บข้อมูล นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยบอลลูน แต่ทำไม่ได้ด้วยดาวเทียม” ดร.มิรอนอธิบาย
ติดตามเส้นทางบอลลูนได้ไหม
ปัจจุบันเรายังไม่สามารถตรวจวัดเส้นทางการบินของบอลลูนได้อย่างแม่นยำ เพราะไม่มีข้อมูลติดตามเส้นทางการบินแบบที่ใช้กับเครื่องบินสายการบินพาณิชย์ทั่วไป ดังนั้นจึงต้องหาข้อมูลจากแหล่งอื่นแทน
หนึ่งในเทคนิคที่ใช้คาดการณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของวัตถุในที่สูงคือ การใช้แบบจำลองด้วยฐานข้อมูลจากความเร็วและทิศทางลม
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) ได้พัฒนาแบบจำลองดังกล่าวที่เรียกว่า HYSPLIT โดยใช้ฐานข้อมูลกระแสลมที่ระดับความสูง 14,000 เมตรขึ้นไป
ไซมอน คิง นักอุตุนิยมวิทยาของบีบีซี ระบุว่า แบบจำลองนี้มักใช้ตรวจวัดการแพร่กระจายของสิ่งต่าง ๆ เช่น มลพิษ หรือวัสดุอันตรายในชั้นบรรยายกาศโลก
เขาอธิบายว่า แบบจำลองนี้ยังใช้ดูแนวโคจรย้อนหลังได้ด้วย ซึ่งช่วยให้ทราบเส้นทางพัดพาของมลพิษ หรือวัตถุต่าง ๆ ว่ามาจากทิศทางใด
“ในกรณีของบอลลูนจีนที่บินอยู่เหนือสหรัฐฯ นั้น แนวโคจรย้อนหลังสามารถแสดงให้เห็นว่ากระแสลมพัดพาบอลลูนมาจากที่ใด และการวิเคราะห์ทิศทางกับความเร็มลมก็ช่วยให้ทราบว่ามันจะไปทางไหนในอนาคต” เขากล่าว

แดน แซตเตอร์ฟิลด์ นักอุตุนิยมวิทยาชาวอเมริกันได้ใช้แบบจำลองนี้คำนวณเส้นทางที่บอลลูนสอดแนมนี้อาจบินไป แล้วแชร์ข้อมูลที่ได้ทางออนไลน์
ผลคำนวณจากตำแหน่งที่พบในรัฐมอนแทนา เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา บวกกับข้อมูลกระแสลม เขาประเมินแนวโคจรย้อนหลังของบอลลูนลูกนี้ว่ามีต้นทางมาจากภาคกลางของจีน
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า นี่เป็นเพียงผลการประเมินด้วยแบบจำลองที่พัฒนาโดย NOAA ไม่ใช่ข้อมูลเส้นทางที่แน่ชัดของบอลลูนดังกล่าว
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว