ชีวิตใหม่ของเหล่าทีมหมูป่า หลังปฏิบัติการถ้ำหลวง

 

เหล่าทีมหมูป่า แยกย้ายกันไปทำตามความฝันของตัวเอง หลังเหตุการณ์ถ้ำหลวง

Getty Images เหล่าทีมหมูป่า แยกย้ายกันไปทำตามความฝันของตัวเอง หลังเหตุการณ์ถ้ำหลวง

เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ดวงเพชร พรหมเทพ และนักฟุตบอลวัยเด็กอีก 11 คน กลายเป็นที่จับตาของคนทั้งโลก

เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ชะตากรรมของทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี” คาดเดาไม่ได้เลย มีการระดมนักดำน้ำถ้ำมือฉมังจากทั่วโลก มายังประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือพวกเขาที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

โลกได้เห็นภาพ ทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี และโค้ชของพวกเขา ได้รับการช่วยเหลืออกมาทีละคน ด้วยการวางยาสลบ และพาดำน้ำออกมาจากในถ้ำ

สำหรับเหล่าเด็กชาย อายุระหว่าง 11-16 ปี การรอดชีวิตของพวกเขาเปิดม่านสู่ความท้าทายครั้งใหม่ นั่นคือการรับมือกับความสนใจของสื่อทั่วโลกต่อเรื่องราวของพวกเขา

ภายหลังภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่านานเกือบ 3 สัปดาห์ องค์กรสื่อทั่วโลกพยายามเก็บรายละเอียดประสบการณ์ของพวกเขาในทุกแง่มุม

เมื่อปี 2562 ทีมฟุตบอลหมูป่าตกลง ผ่านการเจรจาของรัฐบาลไทยให้สิทธิ์ทำสัญญาสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับทีมหมูป่าอะคาเดมีแก่บริษัท SK Global Entertainment โดยไม่อนุญาตให้ผู้อื่นสัมภาษณ์เด็กได้โดยตรงโดยไม่ผ่านบริษัท โดยเด็ก ๆ มีรายได้ราว 3 ล้านบาทต่อคน

ซีรีส์ความยาว 6 ตอนของเน็ตฟลิกซ์ ได้เริ่มสตรีมมิงไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ชื่อของทีมหมูป่าเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

ทีมหมูป่าได้คนละ 3 ล้านบาท กับสัญญาให้เน็ตฟลิกซ์

Getty Images ทีมหมูป่าได้คนละ 3 ล้านบาท ภายใต้สัญญาของเน็ตฟลิกซ์

ในปีเดียวกัน ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง Thirteen Lives กำกับโดย รอน โฮเวิร์ด ได้ออกฉายเช่นกัน

เมื่อปีที่แล้ว ชนินทร์ วิบูรณ์รุ่งเรือง หรือน้องไตตั้น อดีตทีมหมูป่าที่อายุน้อยที่สุด บอกกับทีมข่าวบีบีซีว่า เขาพบว่า ความสนใจของสังคมต่อชีวิตของพวกเขา หลังรอดจากถ้ำหลวงออกมานั้น มีความท้าทาย

“ช่วงแรก ๆ ก็ยาก ต้องปรับตัวเรื่องคนรู้จักมากขึ้น ไม่รู้จะวางตัวยังไง เกร็งเวลาเจอกล้อง มาสัมภาษณ์” ไตตั้น กล่าว

สี่ปีผ่านมานับแต่ปฏิบัติการถ้ำหลวง ไตตั้นยังเล่นฟุตบอลในทีมที่ควบคุมโดย เอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก ที่เคยติดอยู่ในถ้ำหลวงกับพวกเขา

ในเวลานั้น เอกพลในวัย 25 ปี มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้สงบสติภายในถ้ำที่มืดมิด ด้วยการฝึกนั่งสมาธิ ทำให้ไม่ตื่นตระหนกจนใช้ออกซิเจนมากเกินไป

ในช่วงเวลาที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำหลวง เอกพล และทีมหมูป่า 3 คน รวมถึง ด.ช. มงคล บุญเปี่ยม เป็นบุคคลไร้สัญชาติ แม้ว่าจะเกิดในประเทศไทย

เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พวกเขาได้รับสัญชาติไทยในที่สุด

หลังรอดชีวิตออกมาจากถ้ำหลวง เอกพลจัดตั้งโรงเรียนสอนฟุตบอลของตนเอง เพื่อฟูมฟักความสามารถของเยาวชนไทย

“ภูมิใจครับกับน้อง ๆ บางคน เขาได้ไปทำตามเป้าหมาย หลายคนมีเป้าหมายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ หลายคนก็อยากเรียนให้จบสูง ๆ ตอนนี้ ทุกคนก็ได้ทำหน้าที่ของใครของมัน” เอกพล บอกกับบีบีซี เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว

หนึ่งในทีมหมู่ป่า และเป็นหนึ่งในเด็กที่เคยไร้สัญชาติ คือ ด.ช. อดุลย์ สามอ่อน เขาเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวที่พอจะพูดภาษาอังกฤษได้ และเป็นเขาเองที่ทักทายทีมนักดำน้ำถ้ำนานาชาติ ในห้วงเวลาที่เข้าไปถึงจุดที่ทีมหมูป่าติดอยู่ ลึกเข้าไปภายในถ้ำ และเป็นผู้ถ่ายทอดคำแนะนำของนักดำน้ำแก่เพื่อนร่วมทีม

เมื่อปีที่แล้ว นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า อดุลย์ ที่พูดได้ 5 ภาษา กำลังศึกษาอยู่ในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนการศึกษาเต็ม

ผู้ปกครองและอาของเขา บอกกับนิวยอร์กไทมส์ว่า อดุลย์อยากทำงานในสหประชาชาติ

“เด็ก ๆ กำลังเดินหน้าไปในเส้นทางของตนเอง” เขากล่าว “บางคนอยากเรียนต่อ บางคนอยากเล่นฟุตบอล พวกเขายังพูดคุยกับ ส่งข้อความหากัน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์”

พรชัย คำหลวง อดีตทีมหมูป่าอีกคน เป็นหนึ่งในคนที่เลือกเส้นทางกีฬาอาชีพ โดยเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรฟุตบอลเชียงราย ล้านนา ในไทยลีก 3

ชีวิตใหม่ของ “น้องดอม”

ทีมหมูป่าคนอื่น ๆ ก็ยังเกี่ยวข้องกับฟุตบอลในระดับต่าง ๆ กัน เช่นเดียวกับ ดวงเพชร พรหมเทพ ที่เสียชีวิตในเมืองเลสเตอร์ ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566

เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2565 ทักษะด้านกีฬาของเขากลายเป็นที่ยอมรับ หลังได้รับทุนการศึกษาให้เข้าศึกษาต่อที่ บรูค เฮาส์ คอลเลจ ฟุตบอล อะคาเดมี (Brooke House College Football Academy) ซึ่งเป็นสถาบันสอนฟุตบอลที่สร้างนักฟุตบอลระดับโลกมาแล้วหลายคน

ดวงเพชร ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิซิโก้ภายใต้โครงการ Sport Education เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนฟุตบอล บรูก เฮาส์ คอลเลจ ฟุตบอล อะคาเดมี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเลสเตอร์ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว

“วันนี้ ความฝันของผมเป็นจริงแล้ว” ดวงเพชร หรือ ดอม เขียนในอินสตาแกรม หลังทราบว่าได้รับทุนการศึกษา

เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หรือ ซิโก้ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิซิโก้ เล่าระหว่างการแถลงข่าวถึงการเสียชีวิตของดวงเพชรว่า “จริง ๆ แล้วน้องดอมเป็นคนที่แข็งแรง” เพราะก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่างประเทศได้มีการตรวจร่างกายเพื่อใช้ในการขอวีซ่า การได้วีซ่ามาจึงทำให้เขามั่นใจว่า “น้องดอมแข็งแรง”

หลังจากเดินทางไปศึกษาต่อและทางมูลนิธิได้ติดต่อพูดคุยกับดอมและทราบว่า “น้องมีความสุขในการเล่นบอล ไม่มีอะไรเลย เพื่อน ๆ ทุกคนก็บอกว่า พี่ดอมมีความสุขมากในการเล่นบอลที่นี่ แล้วก็น้องบอกว่า จะอยู่ยาว อยู่ไปเรื่อย ๆ จนเรียนมหา’ลัย” ซิโก้กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่า เท่าที่ทราบดอมไม่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงใด ๆ ก่อนหน้านี้

ครอบครัวพรหมเทพเชื่อว่า นายดวงเพชร เป็นนักเรียนเอเชียคนแรกที่ได้รับมอบทุนการศึกษา และเข้าเรียนที่โรงเรียนฟุตบอลดังกล่าว

เมื่อเหล่าอดีตทีมหมูป่าได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของดวงเพชร สิ่งที่อดีตเพื่อนร่วมทีม เขียนไว้อาลัยแก่เขา ก็ล้วนเป็นถ้อยคำที่เชื่อมโยงถึงทักษะด้านกีฬาที่โดดเด่น

ชนินทร์ หรือ ไตตั้น โพสต์ว่า “พี่ชาย พี่บอกว่าจะทำตามความฝันเรื่องฟุตบอล และพี่เป็นคนที่ผลักดันผม ทำให้อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งเหมือนพี่” และถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง ก็อยากจะเล่นฟุตบอลด้วยกันอีก

น้องนิค 1 ใน 13 หมูป่า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “RIP. ดอม อนาคตเอ็งกำลังเดินทางไปได้สวยเลย เอ็งจะอยู่ในความทรงจำตลอดไป #ดวงเพรช พรหมเทพ”

กมล คุณงามความดี เจ้าหน้าที่อุทยานถ้ำหลวงฯ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “หมูป่าน้อยของลุง น้องดอมเสียชีวิตแล้วครับ#RIP #13หมูป่า #ไปสู่สุขคตินะน้องดอม”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว