คนโรคจิต “ไซโคพาธ” มีความได้เปรียบบางอย่างในเชิงวิวัฒนาการ

 

รูปคนถ้ำมอง

Getty Images

ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เรามักพบว่าสังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยคนที่มีบุคลิกภาพและพฤติกรรมแปลก ๆ อยู่ทุกแห่งหน ในจำนวนนี้หลายคนอาจเจ็บป่วยทางใจ จนเข้าขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นคนโรคจิตหรือ “ไซโคพาธ” (psychopath) กันเลยทีเดียว

นิยามของโรคจิตหรือไซโคพาธนั้น หมายถึงคนที่ไม่ค่อยรู้สึกรู้สา ไม่สามารถมีอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ยึดถือคุณธรรม มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม รวมทั้งหลอกลวงเสแสร้งเก่งอีกด้วย

ในมุมมองเชิงวิวัฒนาการแล้ว หากมียีนหรือหน่วยพันธุกรรมที่ถ่ายทอดความเป็นไซโคพาธอยู่จริง พันธุกรรมที่จัดว่าเป็นลักษณะด้อยซึ่งส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตเช่นนี้ น่าจะถูกกำจัดออกไปจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยการคัดเลือกโดยธรรมชาติเสียตั้งนานแล้ว แต่ทว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นกลับตรงกันข้าม

แม้ในปัจจุบันเราจะพบไซโคพาธได้เพียง 1% ในทุกกลุ่มประชากรของโลก แต่สังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยยังคงมีฆาตกรต่อเนื่องหรืออาชญากรเลือดเย็นปรากฏตัวขึ้นก่อเหตุสะเทือนขวัญอยู่เรื่อยมา แม้แต่ในหมู่คนชั้นสูงที่ร่ำรวยและมีการศึกษาดีก็ยังพบว่ามีไซโคพาธแฝงตัวอยู่

งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งจัดทำโดยนักจิตวิทยาชาวออสเตรเลียเมื่อปี 2016 ระบุว่านักธุรกิจชั้นนำระดับผู้บริหารองค์กรถึง 20% มีแนวโน้มของพฤติกรรมสอดคล้องกับอาการของคนโรคจิตในระดับคลินิก ซึ่งนับว่ามีความร้ายแรงมากอยู่ ชวนให้น่าสงสัยว่าการเป็นไซโคพาธนั้นมีดีอย่างไร จึงทำให้พันธุกรรมโรคจิตถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและปรากฏอยู่เสมอในประชากรทุกชนชั้นของสังคม

พลังของเล่ห์ลวง

โจนาธาน อาร์. กู๊ดแมน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ผู้ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ กล่าวอธิบายในบทความบนเว็บไซต์ The Conversation ว่าความสามารถของไซโคพาธในการเสแสร้งแกล้งเป็นคนดี จนหลอกลวงตบตาผู้คนได้อย่างแนบเนียนนั้น อาจเป็นข้อได้เปรียบที่ผลักดันให้พันธุกรรมของคนโรคจิตอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

รูปเงาคนถือมีด

Getty Images

ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของวิวัฒนาการทางสังคม เนื่องจากความไว้เนื้อเชื่อใจจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความสำเร็จทางอารยธรรมตามมา เช่นการสร้างเมืองและสิ่งประดิษฐ์น่าอัศจรรย์ของโลก ซึ่งความร่วมมือในสังคมมนุษย์นั้นจัดว่าอยู่ในระดับที่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างเทียบกันไม่ติด

ด้วยเหตุนี้ การเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือในสายตาของทุกคน จึงนับเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่พึงปรารถนาและสามารถจะนำพาให้คนผู้นั้นประสบความสำเร็จในชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่ต้องการความร่วมมือจากผู้คนในสังคมยุคใหม่ ซึ่งเป็นสังคมขนาดใหญ่เต็มไปด้วยสมาชิกที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดกัน ยากที่จะตัดสินได้ว่าแต่ละคนไว้ใจได้แค่ไหนและสมควรให้ความร่วมมือกับคนแปลกหน้าหรือไม่

ลองจินตนาการถึงชีวิตในสังคมยุคดึกดำบรรพ์เมื่อหลายหมื่นปีก่อน ในตอนที่มนุษย์ยังหาเลี้ยงปากท้องด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า หากมีไซโคพาธอยู่ในยุคนั้น เขาสามารถจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จนได้คู่หูที่จะร่วมกันออกล่าสัตว์ใหญ่อย่างง่ายดาย

แต่ทว่าหลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ไซโคพาธมีแนวโน้มจะหักหลังเพื่อน โดยอาจตัดสินใจฆ่าทิ้งแล้วชิงเนื้อก้อนโตไปครอบครองแต่เพียงผู้เดียว ก่อนจะกลับมาที่หมู่บ้านโดยแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งสิ้น

ความสามารถในการแสดงตบตาโดยไร้ซึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างใหญ่หลวงของคนโรคจิต หากพิจารณาจากมุมมองของวิวัฒนาการที่สัตว์ทุกชนิดต้องแย่งชิงและสะสมทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มนุษย์ธรรมดากลุ่มที่ไม่ใช่ไซโคพาธ ได้วิวัฒนาการความสามารถในการจับเท็จหรือการรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมขึ้นมาด้วยเช่นกัน ทั้งยังพัฒนากลไกทางสังคมเช่นการวางกฎระเบียบและมาตรการลงโทษ เพื่อป้องกันภัยจากคนโรคจิตที่หน้าซื่อใจคด ทำให้เหล่าไซโคพาธต้องมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยต้องสามารถทำการล่อลวงและก่ออาชญากรรมได้สำเร็จโดยไม่ถูกจับและถูกลงโทษ

เหตุใดไม่มีคนโรคจิตเกิดมามากกว่านี้ ?

กู๊ดแมนยังอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่า หากการเสแสร้งแกล้งเป็นคนดีที่ไว้ใจได้ของไซโคพาธ ทำให้พวกเขาได้เปรียบเหนือคนทั่วไปในเชิงวิวัฒนาการ เหตุใดจึงไม่มีคนโรคจิตเกิดมาเป็นจำนวนมาก หรือมีไซโคพาธคิดเป็นสัดส่วนของประชากรที่สูงกว่านี้

คำตอบง่าย ๆ อาจมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า หากคนส่วนใหญ่เป็นไซโคพาธกันแทบจะทั้งหมด กลุ่มคนที่เหลือก็จะถูกหลอกและเจอกับการทรยศหักหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสูญเสียความสามารถในการเชื่อถือผู้อื่นและไม่อาจไว้ใจใครได้อีกต่อไป

รูปกราฟิกคนร้องตะโกน

Getty Images

การเป็นไซโคพาธนั้นไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า “ความยืดหยุ่นในการแสดงออกของยีนมนุษย์” (human phenotypic plasticity) ซึ่งทำให้ลักษณะทางกายภาพหรือนิสัยใจคอที่ถูกกำหนดมาในหน่วยพันธุกรรม อาจแสดงออกหรือไม่แสดงออกมาก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ายีนของผู้นั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน

ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ได้แก่การที่เด็กไร้เดียงสามีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นมาเป็นไซโคพาธ หากไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่นเปี่ยมด้วยความรักและการเอาใจใส่ดูแลอย่างเพียงพอ

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการมักพบว่า หากเด็กคนหนึ่งมีพันธุกรรมของไซโคพาธในตัวอยู่แล้ว ยีนนั้นจะถูก “เปิดสวิตช์” ขึ้นใช้งานทันที หากถูกพ่อแม่ทอดทิ้งหรือถูกทารุณกรรม

ในกรณีที่พบกับสถานการณ์เลวร้าย เด็กที่มีแนวโน้มเป็นไซโคพาธจะพัฒนากลไกป้องกันตัวทางอารมณ์ขึ้นมา โดยทำให้ตนเองไม่รู้สึกรู้สาต่อสิ่งใด ๆ เพื่อไม่ให้บอบช้ำกับบาดแผลทางกายและใจที่หนักหนาสาหัส แต่กลไกนี้ก็จะสร้างอาชญากรเลือดเย็นที่ด้านชาต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่มีความเมตตาเห็นใจผู้ใด และทำได้ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองด้วยเช่นกัน

กู๊ดแมนกล่าวสรุปว่า “ทางออกของปัญหาไซโคพาธในสังคมปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่การวางกลไกทางสังคมซึ่งรองรับสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนอย่างมีคุณภาพ”

“นอกจากนี้ การสร้างบริบทแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่ดี ก็ถือเป็นความหวังอีกอย่างหนึ่งในการคุมกำเนิดประชากรไซโคพาธไม่ให้เพิ่มขึ้น เช่นเราอาจปลูกฝังค่านิยมเรื่องการเป็นคนที่ซื่อสัตย์ไว้ใจได้ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ไม่ใช่ส่งเสริมให้ผู้คนทำตัวน่าเชื่อถือเพียงเพื่อจะได้รับความสำเร็จหรือผลตอบแทนบางอย่างในภายหลัง ซึ่งจะนำไปสู่การเสแสร้งหลอกลวงได้”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว