รัสเซีย ยูเครน : เหตุใดปฏิบัติการยึดกรุงเคียฟของปูตินจึงล้มเหลว

 

A civilian north of Kyiv points to where Russian forces destroyed his home

BBC / Claire Jude Press

3 วันหลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน ขบวนยานยนต์หุ้มเกราะยาว 15.5 กม. ที่มองเห็นได้จากดาวเทียมก็ปรากฏขึ้นทางภาคเหนือของยูเครน

ในเช้าวันเดียวกันที่เมืองบูชา ไม่ไกลจากกรุงเคียฟ โวโลดีมีร์ เชอร์บินิน วัย 67 ปี ยืนอยู่ด้านนอกซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน และได้เห็นขบวนรถทหารรัสเซียกว่า 100 คันแล่นเข้ามาในเมือง

ทั้งโวโลดีมีร์และดาวเทียมคือพยานที่ได้เห็นส่วนสำคัญในแผนการจู่โจมเพื่อหวังยึดครองยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อีกทั้งยังได้เห็นความล้มเหลวไม่เป็นท่าของแผนการนี้

สื่อตะวันตกเรียกมันว่าขบวนทัพ แต่ในความเป็นจริงมันคือการจราจรติดขัดและความผิดพลาดในแผนการรบครั้งใหญ่ของกองทัพรัสเซีย

48 ชั่วโมงหลังดาวเทียมจับภาพขบวนรถทหารดังกล่าวได้ครั้งแรกเมื่อ 28 ก.พ. 2022 ขบวนรถก็จอดนิ่งเป็นแถวยาว 56 กม. อยู่นานหลายสัปดาห์ ก่อนจะล่าถอยออกไปในที่สุดภายในเวลาชั่วข้ามคืน

เกิดอะไรขึ้น ทำไมขบวนทัพขนาดใหญ่นี้จึงไปไม่ถึงกรุงเคียฟ

ทีมข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับพยานผู้เห็นเหตุการณ์หลายคน เพื่อค้นหาว่าเกิดความผิดพลาดอะไรที่นำไปสู่ความล้มเหลวของแผนยกทัพตีเมืองหลวงยูเครนครั้งนี้

ชั่วโมงแรก

เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นในวันแรกของสงคราม บริเวณชายแดนตอนเหนือของยูเครนที่ติดกับเบลารุส

ในตอนนั้น วลาดีสลาฟ ทหารวัย 23 ปีจากกองพลน้อยจู่โจมทางอากาศที่ 80 ของยูเครน สังเกตเห็นแสงสว่างจ้าท่ามกลางท้องฟ้ายามค่ำคืน

“ผมจำได้ว่าเห็นแสงไฟสว่างวาบขึ้นในป่า ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นไฟหน้ารถยนต์ แต่ก็ตระหนักได้ว่ามันคือ “แกรด” (Grad) [เครื่องยิงขีปนาวุธขับเคลื่อนด้วยตัวเอง] และพวกนั้นกำลังยิงมาที่เรา”

ขณะนั้น หน่วยของวลาดีสลาฟ ซึ่งตั้งค่ายอยู่ในเขตห้ามเข้าเชอร์โนบิล กำลังออกลาดตระเวน และได้เห็นรถทหารรัสเซียข้ามแดนเข้ามาในยูเครน

“พื้นดินสั่นสะเทือนไปหมด คุณเคยเห็นรถถังไหม ไม่มีอะไรเสียงดังเหมือนมัน มันช่างทรงพลังจริง ๆ” เขาบรรยาย

ตามแผนการที่วางไว้ในกรณีถูกโจมตี วลาดีสลาฟและเพื่อนร่วมหน่วยของเขาได้ระเบิดสะพานที่เชื่อมเชอร์โนบิลกับเมืองใหญ่ที่อยู่ติดกันชื่อ อิวานคีฟ

แผนการนี้ช่วยให้ทหารรัสเซียต้องเสียเวลาสร้างแพข้ามฟาก และช่วยถ่วงเวลาให้หน่วยของวลาดีสลาฟสามารถล่าถอยไปยังกรุงเคียฟได้

“ตอนแรกผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไมพวกเราไม่สกัดพวกนั้นในเชอร์โนบิล แต่เราต้องศึกษาศัตรู เราเลยทำตามแผนที่วางไว้”

บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับพรมแดนเบลารุส ทำให้ทหารยูเครนไม่ต้องการยิงใส่ข้าศึก เพราะไม่อยากเสี่ยงให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งกับเบลารุส นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญของพวกเขาคือการทำความเข้าใจแผนการรบของรัสเซีย ก่อนที่จะส่งทหารเข้าจัดการ

แผนแม่บทของปูติน

สิ่งที่วลาดีสลาฟเห็นคือรถทหารคันแรก ๆ ของขบวนทัพใหญ่ที่ตามมา

กองทัพยูเครนระบุว่า ขบวนรถทหารยาว 56 กม. แท้จริงคือกองทหารยุทธวิธี 10 หน่วยของรัสเซียที่มีภารกิจสำคัญใน “ปฏิบัติการเด็ดหัว” (decapitation attack) เข้ายึดเมืองหลวงยูเครนและโค่นล้มรัฐบาล

เอกสารฉบับหนึ่งที่บีบีซีได้เห็น แสดงให้เห็นตารางเวลาของแผนการนี้ ที่กำหนดให้กองพันแรกบุกเข้ายูเครนในเวลา 04:00 น. ของวันที่ 24 ก.พ. และให้เคลื่อนทัพเข้ากรุงเคียฟภายในเวลา 14:55 น.

Luibov Demydiv (R), a pensioner from Demydiv, points on the map to where she saw the convoy circling after a bridge was destroyed, stopping their advance

BBC / Claire Jude Press
ชาวยูเครนผู้เห็นเหตุการณ์ (ขวา) ชี้แผนที่เส้นทางขบวนทัพรัสเซียขับวนเป็นวงกลม หลังจากเส้นทางเดินทัพถูกตัดขาดจากการที่ทหารยูเครนระเบิดสะพาน

ทหารบางกองพันเคลื่อนทัพสู่เมืองฮอสตอเมล ทางเหนือของกรุงเคียฟ แล้วเข้าสมทบกับทหารที่ถูกลำเลียงมาโดยเครื่องบินเพื่อเข้ายึดสนามบิน

ส่วนทหารที่เหลือมุ่งตรงสู่ใจกลางเมืองหลวงยูเครน

การจู่โจมครั้งนี้ใช้กลยุทธสำคัญ 2 ประการคือ ปฏิบัติการอย่างเป็นความลับ และอย่างรวดเร็ว

Royal United Services Institute สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า รัสเซียคิดว่าการเก็บแผนเข้าตีเมืองหลวงยูเครนไว้เป็นความลับจะช่วยให้ทหารรัสเซียเข้าจู่โจมโดยมีจำนวนมากกว่าฝ่ายข้าศึก 12 ต่อ 1 ขณะเคลื่อนพลสู่ตอนเหนือของกรุงเคียฟ

การเก็บความลับเรื่องแผนการนี้ของนายปูตินประสบความสำเร็จมากเสียจนผู้บัญชาการทหารรัสเซียส่วนใหญ่เพิ่งได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจนี้เพียง 24 ชั่วโมงก่อนหน้าการเปิดฉากเข้ารุกรานยูเครน

เมื่อพิจารณาในเชิงยุทธวิธี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทหารรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีเวลาเตรียมการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมเพื่อสู้รบในฤดูหนาว พวกเขาขาดแคลนเสบียงอาหาร เชื้อเพลิง และแผนที่ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์การสื่อสารไม่เหมาะสม และเครื่องกระสุนไม่เพียงพอ

การขับรถทหารท่ามกลางหิมะด้วยยางรถผิดประเภท ทำให้รถฝ่ายรัสเซียติดอยู่ตามแอ่งโคลน ชาวบ้านใกล้เมืองอิวานคีฟเล่าว่าทหารรัสเซียสั่งให้เกษตรกรยูเครนช่วยดึงรถถังของพวกเขาออกจากปลักโคลน

ปัญหาดังกล่าวทำให้ขบวนทัพรัสเซียต้องเปลี่ยนไปขับบนถนน จนเกิดเป็นภาพขบวนรถติดยาวเหยียด เนื่องจากทหารหน่วยต่าง ๆ มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างจำกัด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารคนหนึ่งระบุว่า “คุณต้องไม่เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนศัตรูเป็นขบวนยาวอย่างเด็ดขาด”

บีบีซีนำคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ และข้อมูลข่าวกรองของกองทัพยูเครน มาทำแผนที่การเคลื่อนทัพของทหารรัสเซียในช่วงเริ่มต้นสงครามจนถึงช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ซึ่งเผยให้เห็นว่า ทหารรัสเซียหลีกเลี่ยงการเคลื่อนพลผ่านท้องทุ่ง แล้วเลือกเดินทางไปตามถนนใหญ่ทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ

A map showing all the roads where the convoy travelled during February to March 2022

BBC

ตอนที่ขบวนรถทหารรัสเซียจอดติดกันเป็นระยะทาง 56 กม.นั้น ประกอบไปด้วยรถถัง 1,000 คัน ยานยนต์ทหารราบ 2,400 คัน และทหาร 10,000 นาย รวมทั้งรถบรรทุกเสบียงอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และอาวุธยุทธภัณฑ์

นอกจากจะหยุดชะงักอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเคียฟโดยปราศจากอาหาร และเชื้อเพลิงแล้ว ทหารรัสเซียยังประเมินคู่ต่อสู้ต่ำเกินไปด้วย

การผนึกกำลังต่อสู้

โวโลดีมีร์ เชอร์บินิน และเพื่อนอาสาสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนวัยเกษียณ ได้เตรียมตัวรับมือขบวนรถทหารรัสเซียที่กำลังมุ่งหน้าสู่เมืองบูชามาเป็นเวลา 3 วันแล้ว

พวกเขาซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 12 คน มีปืนกลเป็นอาวุธต่อสู้กับข้าศึกเพียงกระบอกเดียว

ก่อนทหารรัสเซียจะเคลื่อนพลมาถึงบูชา พวกได้ปลดป้ายเครื่องหมายจราจร ตั้งด่านตรวจ และทำระเบิดขวดเอาไว้

จนกระทั่งเช้าวันอาทิตย์ รถถังรัสเซียก็เคลื่อนพลมาถึงเมืองในที่สุด

Maksym (L) Vlodymer (C) and 'the colonel' (R) stand in front of their bombed out office for local volunteers

BBC / Claire Jude Press
มักซิม (ซ้าย) โวโลดีมีร์ (กลาง) และ “ผู้พัน”(ขวา) ยืนอยู่ด้านหน้าสำนักงานทหารอาสาท้องถิ่น

โวโลดีมีร์และหน่วยทหารอาสาของเขาต่อสู้กับรถถังด้วยอาวุธเพียงน้อยนิดที่พวกเขามีอยู่เป็นเวลาเกือบ 30 นาที

“พวกเราเผารถได้ 2 คัน ทำให้รถทหารรัสเซียเคลื่อนขบวนได้ช้าลง” โวโลดีมีร์เล่า

แต่ศัตรูไม่ปล่อยให้พวกเขาโจมตีเพียงฝ่ายเดียว

มักซิม ชโคโรปาร์ ทหารอาสาวัย 30 ปีเล่าว่า “พอพวกนั้นเห็นเราขว้างระเบิดขวดใส่ พวกเขาก็ยิงสวนมา…ผมเคยทำงานในบาร์ ไม่เคยฝึกทหารมาก่อน”

หลังจากต่อสู้ไปได้ครึ่งชั่วโมง ทหารอาสาหน่วยนี้ก็ถูกยิงกันทุกคน และต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

แม้จะบาดเจ็บ แต่โวโลดีมีร์ก็ยังไม่หยุดพัก เขายังช่วยรับและตรวจสอบข้อมูลการพบเห็นทหารรัสเซียในพื้นที่ต่าง ๆ ของแคว้นเคียฟ แล้วแจ้งต่อทางการยูเครน

ที่ปลายสาย โรมัน โพฮอริลี รองผู้ว่าเมืองเอียร์ปินวัย 23 ปี คือผู้รับแจ้งข้อมูลเหล่านี้

Lawyer and councillor by day, Roman searches for Russian posts on social media by night.

BBC / Claire Jude Press
นอกจากจะทำงานเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น โรมัน ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวกรองที่บอกตำแหน่งและความเคลื่อนไหวของทหารรัสเซีย

เขาเล่าให้บีบีซีฟังว่าตอนนั้น เขาและทีมงานไม่ได้นอน 3 วัน เพราะต้องคอยรับแจ้งข้อมูลการพบเห็นทหารรัสเซีย และเบาะแสพวกไส้ศึกที่ทำเครื่องหมายบนถนนเป็นสัญลักษณ์บอกเส้นทางให้ขบวนทหารรัสเซีย

นอกจากจะทำงานเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นแล้ว โรมัน ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวกรอง DeepState ที่บอกตำแหน่งและความเคลื่อนไหวของทหารรัสเซีย โดยรวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย และรายงานข่าวกรองต่าง ๆ

เขาบอกว่า สิ่งสำคัญในการรับมือเข้าตีกรุงเคียฟครั้งนี้คือการผนึกกำลังต่อสู้ข้าศึกที่เข้ารุกรานของคนยูเครน

“ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ผมยอมรับว่ามันวุ่นวายมากในช่วง 2-3 วันแรก แต่มีทหารผู้มีประสบการณ์คอยให้ความช่วยเหลือพลเรือน ทุกคนอยากปกป้องเมืองของพวกเขา” โรมันบอก

ในทุกเมืองและหมู่บ้านที่ทหารรัสเซียเคลื่อนทัพผ่าน พวกเขาต่างเผชิญการโจมตีจากชาวบ้านที่ใช้อาวุธที่ทำขึ้นเอง รวมไปถึงการโจมตีจากเหล่าทหารราบและทหารปืนใหญ่ของยูเครน

Ukrainian volunteers distributing food

BBC / Claire Jude Press
ชาวยูเครนอาสาทำงานที่สามารถช่วยชาติได้ในยามสงคราม

ยุทธวิธีล้าสมัย

วลาดีสลาฟ จากกองพลน้อยจู่โจมทางอากาศที่ 80 ของยูเครนเล่าว่า “พวกรัสเซียต่างถือกล่องเหล็กขนาดใหญ่ที่เขียนว่า ‘ความลับ’ พวกเราสามารถยึดมาได้กล่องหนึ่ง และพบแผนที่ทำเครื่องหมายเส้นทางเดินทัพทั้งหมดของพวกเขา หลังจากนั้นเราก็ล่วงรู้แผนการทั้งหมดของพวกนั้น”

นอกจากนี้ อุปกรณ์นำทางที่รัสเซียใช้ก็ล้าสมัยมาก บีบีซีพบแผนที่ที่ทหารรัสเซียทิ้งไว้ ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ทำให้ไม่ปรากฏเมืองต่าง ๆ ในปัจจุบันของยูเครนอยู่ในแผนที่เหล่านี้

บีบีซียังพบธงส่งสัญญาณ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่แสนล้าสมัยระหว่างทหารหน่วยต่าง ๆ ของรัสเซีย

กลยุทธ์หนึ่งที่ฝ่ายยูเครนใช้และประสบความสำเร็จมากคือ การระเบิดสะพานและเขื่อนตามเส้นทางเคลื่อนทัพของรัสเซีย ส่งผลให้ฝ่ายรัสเซียต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง

การพึ่งพาแผนที่เก่า บวกกับการสื่อสารที่จำกัดระหว่างหน่วยต่าง ๆ และการรอการตัดสินใจจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทำให้การเคลื่อนทัพของรัสเซียเป็นไปอย่างล่าช้า

ภาพถ่ายดาวเทียมหลายภาพเผยให้เห็นขบวนรถทหารรัสเซียต้องขับวนไปมาเป็นวงกลม

Maxar satellite image of the convoy

Maxar Technologies 2022

แผนยึดครองที่ล้มเหลว

แรงกดดันจากการระดมโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ของกองทัพยูเครน ส่งผลให้ขบวนทัพรัสเซียต้องหยุดชะงักลงที่นอกกรุงเคียฟ และทำให้ชาวบ้านที่อาศัยในแถบนั้นต้องเผชิญกับฝันร้าย

วลาดีสลาฟเล่าว่า “พวกรัสเซียปล้นทุกอย่างจากทุกที่ พวกเขากวาดของในห้างร้านต่าง ๆ ไปจนเกลี้ยง และยังใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์”

ความโหดร้ายที่ทหารรัสเซียก่อขึ้นในหลายเมืองและหมู่บ้านทางตอนเหนือและตะวันตกของกรุงเคียฟกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ

หลังจากสี่สัปดาห์อันยาวนาน ในที่สุดขบวนทัพรัสเซียก็เริ่มล่าถอยออกไป

กองพันใหญ่ที่สุด 2 กองที่ยังเหลืออยู่ถูกตีจนพ่ายแพ้บริเวณใกล้สนามบินเมืองฮอสตอเมล ส่วนรถบรรทุกทหารอีก 370 คันที่ถูกทิ้งไว้ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงเคียฟก็ถูกกองทัพยูเครนทำลายทิ้งด้วยปืนใหญ่

ทหารยูเครนเดินหน้าผลักดันข้าศึกให้ล่าถอยไปอย่างต่อเนื่อง จนทหารรัสเซียเริ่มถอนทัพออกไปจากแคว้นเคียฟในวันที่ 19 มี.ค.

A graveyard of Russian vehicles from the convoy piled high in Hostomel

BBC / Claire Jude Press
ซากรถบรรทุกทหารรัสเซียที่ถูกกองทัพยูเครนทำลาย

แม้จะมีการคาดการณ์เรื่องการโจมตีกรุงเคียฟอีกครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะยังไม่เห็นการระดมทหารครั้งใหญ่ที่พรมแดนเบลารุส

แต่ทหารยูเครนบริเวณดังกล่าวยังใช้โดรนเฝ้าจับตาสถานการณ์ต่อไป

วลาดีสลาฟ บอกว่า “ผมยังจำคืนนั้นที่เชอร์โนบิลได้เสมอ ตอนที่ผมออกไปสูบบุหรี่กับเพื่อน แต่เมื่อผมสูบบุหรี่หมดมวนสงครามก็ปะทุขึ้น”

“ผมกับเพื่อมีความฝันว่าพวกเราจะได้ออกลาดตระเวนแบบวันนั้นอีก และตอนที่เราสูบบุหรี่อีกมวน พวกเราจะได้ยินว่าสงครามยุติแล้ว และพวกเราเป็นฝ่ายชนะ”

ขอขอบคุณ สลาวา ชราโมวิช, มาคัส บัคลีย์, ไมเคิล เวลัน, อเลสเตอร์ ทอมป์สัน, เบน อัลเลน และทิม โคอี

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว