เลือกตั้ง 2566 : สมัคร ส.ส. 400 เขตทั่วประเทศ วันแรก

ในวันแรกของการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ 3 เม.ย. 2566 บรรยากาศเป็นไปด้วยความคักคัก โดยมีหัวหน้าพรรค, ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคต่าง ๆ เดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนร่วมพรรคขณะยื่นใบสมัคร และจับสลากหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้รณรงค์ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.

จุดที่คึกคักที่สุดหนีไม่พ้น อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง สถานที่รับสมัคร ส.ส.กทม. ทั้ง 33 เขต เพราะเป็นจังหวัดที่มีจำนวนเขตเลือกตั้งมากที่สุด และคาดว่ามีจำนวนผู้สมัครมากที่สุดด้วย โดยมีผู้สมัครบางส่วนและผู้สนับสนุนเดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าวตั้งแต่เจ้าหน้าที่ยังประตูยังไม่เปิด หรือมาถึงก่อนเวลา 05.00 น.

กองเชียร์แต่ละพรรคต่างจัดเตรียมป้ายรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครมาพร้อม รอติดเบอร์ที่จับสลากได้ และไม่ลืมนำพวงมาลัยดอกดาวเรืองมารอมอบให้นักการเมืองในดวงใจของตนด้วย

เวลา 06.00 น. เศษ แกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ ทยอยเดินทางมาถึงศูนย์เยาวชนฯ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น อาทิ

  • พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม
  • พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค
  • พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำโดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการเลือกตั้ง กทม.
  • พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค
  • พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค
  • พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นำโดย นายนิกร ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค และ ผอ.พรรค
  • พรรคเสรีรวมไทย (สร.) นำโดย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค
  • พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค
  • พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค
tnp

Thai News Pix ป้ายหาเสียงเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม มีบางพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคไม่ได้เดินทางมาร่วมลุ้นผลการจับเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ได้แก่ พรรค พท. เนื่องจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จึงต้องเดินทางไปยื่นใบสมัครและจับสลากเบอร์ของตนเองที่ จ.น่าน เขต 3

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ชทพ. นำทีมไปให้กำลังใจลูกพรรคที่ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ที่ ชทพ. ตั้งเป้าหมายชนะยกจังหวัด 5 เขตเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ที่ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อร่วมลุ้นการจับสลากหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา ทั้ง 16 เขต โดยถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนเขตเลือกตั้งมากเป็นอันดับสองรองจาก กทม.

ตะวัน นำกลุ่มประท้วงบริเวณสนามกีฬาฯ

Thai News Pixตะวัน นำกลุ่มประท้วงบริเวณสนามกีฬาฯ

เวลา 08.30 น. กระบวนการรับสมัคร ส.ส. จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นด้วยการที่ผู้สมัครลงทะเบียนตามเขตที่ตนประสงค์จะเป็นผู้แทนฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการจัดลำดับผู้สมัคร โดยผู้ที่มาถึงก่อนเวลา 08.00 น. จะได้จับสลากลำดับที่จะได้จับสลาก จากนั้นจึงได้จับสลากหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการเลือกตั้ง โดยดำเนินการไปพร้อมกัน 33 เขต

การรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จะมีไปจนถึงวันที่ 7 เม.ย. 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด, อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง, เป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 30 วัน (เนื่องจากมีการยุบสภา) และต้องแสดงหลักฐานประกอบการสมัครอย่างใดอย่างหนึ่งคือ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็น ส.ส. เป็นเวลาติดต่อกันไมน้อยกว่า 5 ปี, เกิดในจังหวัดนั้น, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา, เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว