Y2K คืออะไร รวมข้อสงสัยการเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ สู่การกลับมาของแฟชั่น Y2K

Getty Images ศิลปินเพลงป๊อบชาวเยอรมันในยุค 2000

ผลิตผลทางความคิดที่ได้รับอิทธิพลแห่งยุคสมัยของ “Y2K” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษสู่ปี 2000” (year 2000) กำลังกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในปัจจุบันผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง แฟชั่น นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ตอนนี้ กระแสดังกล่าวก็กำลังเป็นบทสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์ แม้ว่าเมื่อกว่า 20 ปีก่อนจะเคยถูกเชื่อกันว่า การสื่อสารในโลกอินเทอร์เน็ตจะล่มสลายเพราะวิกฤตการคอมพิวเตอร์ ซึ่งหลายคนเรียกว่า “บั๊กแห่งสหัสวรรษ (Millennium Bug)”

อะไรคือ “Millennium Bug”

คนที่ผ่านยุคปลายทศวรรษ 1990 คงจดจำเหตุการณ์สะเทือนโลก หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที ออกมาเตือนว่าระบบคอมพิวเตอร์อาจจะมีปัญหา เนื่องจากวิศวกรคอมพิวเตอร์ในช่วงปี 1960-1980 ได้ตั้งค่าให้คอมพิวเตอร์อ่านตัวเลขเพียง 2 ตำแหน่งหลังเท่านั้น จึงทำให้ความสามารถของคอมพิวเตอร์อ่านได้ถึงเลข 99 เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดปี 1999 ผ่านไปยังวันที่ 1 ม.ค. 2000 มีการคาดการณ์ว่าคอมพิวเตอร์จำนวนมากจะเกิดบั๊กดังกล่าว ที่ไม่สามารถประมวลผลให้เป็นปี 2000 แต่จะแปลข้อมูลย้อนกลับไปเป็นปี 1900 แทน

ความกังวลดังกล่าวทำให้หลายประเทศและองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ต้องเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

เฟซบุ๊กแฟนเฟจของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. เคยโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2022 เพื่อย้อนระลึกถึงปัญหาที่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นจากในเหตุการณ์ Y2K ดังนี้

  • คอมพิวเตอร์ของธนาคารคำนวณดอกเบี้ยติดลบไป 100 ปี
  • สายการบินเกิดปัญหากับระบบบันทึกตารางบินที่ย้อนกลับไปเป็น 1900
  • ระบบคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลของประเทศเดนมาร์กบันทึกอายุเด็กทุกคนที่เกิดในวันแรกของ 2000 ว่ามีอายุ 100 ปี
  • เสียงเตือนฉุกเฉินของปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นดังขึ้นเป็นเวลากว่า 2 นาที เมื่อเข้าสู่ปี 2000
  • ดาวเทียมของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถใช้งานได้ไป 3 วัน

1 ม.ค. 2000 เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ภาพประกอบ

Getty Images

ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 1999 ความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ Y2K ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากหวั่นว่าระบบคอมพิวเตอร์จะทำงานผิดปกติทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การศึกษา การคมนาคม การแพทย์ ระบบความมั่นคงทางทหาร ระบบด้านพลังงาน และธุรกิจองค์กรต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น ทุกอย่างก็ผ่านลุล่วงไปด้วยดี

แม้ว่าทุกอย่างก็ผ่านลุล่วงไปด้วยดี แต่ก็มีรายงานว่ามีองค์กรบางแห่งในโลกได้รับผลกระทบอยู่บ้าง

เว็บไซต์บีบีซีเขียนรายงานเรื่อง “How the UK coped with the millennium bug 15 years ago” (สหราชอาณาจักรจัดการกับบั๊กแห่งสหัสวรรษ เมื่อ 15 ปีก่อน อย่างไร” ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ Y2K ครบรอบ 15 ปี

มีรายงานว่าประชาชนในหลายประเทศ รวมทั้งไทย บางส่วนแห่ถอนเงินในช่วงก่อนปีใหม่ 2000 เนื่องจากกังวลว่าระบบไอทีของธนาคารจะขัดข้อง

Getty Images
มีรายงานว่าประชาชนในหลายประเทศ รวมทั้งไทย บางส่วนแห่ถอนเงินในช่วงก่อนปีใหม่ 2000 เนื่องจากกังวลว่าระบบไอทีของธนาคารจะขัดข้อง

ส่วนหนึ่งของรายงานเรื่องดังกล่าวระบุถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบสารสนเทศขององค์กรชั้นนำ ดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา – หอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา รายงานตัวเลขปี บนเว็บไซต์เมื่อผ่านเข้าสู่ปีใหม่เป็น 19100 แทนที่จะเป็น 2000
  • สหรัฐอเมริกา – เครื่องสล็อตแมชชีนกว่า 150 ตู้ทำงานล้มเหลว ในรัฐเดลาแวร์
  • ญี่ปุ่น – ระบบเก็บข้อมูลการบินสำหรับเครื่องบินเล็กล้มเหลว
  • ออสเตรเลีย – เครื่องตรวจสอบตั๋วโดยสารล้มเหลว
  • สเปน – มีผู้ใช้แรงงานถูกเรียกตัวให้รายงานที่ศาลแรงงานย้อนหลังไปในวันที่ 3 ก.พ. 1900
  • เกาหลีใต้ – ศาลเขตเรียกตัวประชาชชนกว่า 170 คนมายังศาล ย้อนหลังไปในวันที่ 4 ม.ค. 1900
  • อิตาลี – อิตาเลีย บริษัทด้านโทรคมนาคมส่งใบเสร็จเรียกเก็บเงินไปยังลูกค้าย้อนหลังสำหรับสองเดือนแรกของปี 1900
  • สหราชอาณาจักร – การทำธุรกิจผ่านบัตรเครดิตบางรายล้มเหลว

สำหรับในไทย มีรายงานว่า มีประชาชนบางส่วนแห่ถอนเงินในช่วงก่อนปีใหม่ 2000 เนื่องจากกังวลว่าระบบไอทีของธนาคารจะขัดข้อง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ยืนยันว่าระบบปลอดภัย

Y2K มีความหมายมากกว่าเรื่องไอที

ความโด่งดังของ Y2K ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์วันที่ 1 ม.ค. 2000 ได้กลายหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยของสหัสวรรษใหม่ โดยเฉพาะกระแสความนิยมในอุตสาหกรรมบันเทิง แฟชั่น แวดวงไอทีและอุปกรณ์สื่อสาร

บรรยากาศการแสดงคอนเสิร์ตในงานประกาศผลรางวัล MTV Video Music Awards ในปี 2000

Getty Images
บรรยากาศการแสดงคอนเสิร์ตในงานประกาศผลรางวัล MTV Video Music Awards ในปี 2000

เว็บไซต์นิตยสาร Creative Thailand ของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) ได้อธิบายแฟชั่นในยุค Y2K ว่า “แฟชั่นเสื้อเบบี้ทีทรงครอปท็อป กระโปรงยีนส์มินิสเกิร์ต กางเกงขายาวทรงคาร์โก้ เครื่องประดับสุดฮิตทั้งสร้อยลูกปัดสีสันสดใส ปลอกแขน ถุงเท้าข้อยาว ไปจนถึงกลิตเตอร์ระยิบระยับที่ขับให้คนสวมใส่ดูโดดเด่นและดูมีสไตล์”

แฟชั่นดังกล่าวสะท้อนออกมาจากสื่อภาพยนตร์และซีรีส์ดังจากอเมริกา อย่าง Mean Girls (2004) ผ่านการแต่งตัวของตัวละครในยุคนั้น ในขณะที่ฟากฝั่งของเอเชียก็ได้รับอิทธิพลมาเช่นกัน สืบเนื่องจากพัฒนาการและความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ภายใต้กระแส K-Pop ผ่านความสำเร็จของศิลปินกลุ่มชื่อดังอย่าง TVXQ, Super Junior, Girls’ Generation, BIGBANG, 2NE1 และ Wonder Girls

ขณะที่ไทยเองก็ไม่สามารถหลุดพ้นกระแส Y2K โดยนิตยสารของ TCDC ยกตัวอย่าง ละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้ “เบญจา คีตา ความรัก” ที่ออกอากาศทางช่อง 7 สี ในปี 2003 ก็สะท้อนแฟชั่นการแต่งกายในยุคนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนในกลุ่มธุรกิจดนตรี ตัวอย่างคือ ศิลปินกลุ่ม “กามิกาเซ่” (kamikaze), FFK (เฟย์ ฟาง แก้ว), K-OTIC (เคโอติก), หวาย ขนมจีน รวมทั้ง โฟร์-มด เป็นต้น

การกลับมาของ Y2K ครั้งนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีอย่างไร

กระแสการกลับมาของแฟชั่นในยุค Y2K เริ่มเป็นที่พูดถึงในสื่อมวลชนมาแล้วราว 1-2 ปี แต่ยังไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่า เพราะเหตุใดกระแสความนิยมที่ห่างหายไปกว่า 10 ปี ถึงหวนกลับมา มีชุดคำอธิบายในเชิงการตลาดคือ “กระแสความโหยหาอดีต” และ “วัฎจักรของแฟชั่น”

ทว่า สื่อมวลชนทั้งในไทยและต่างประเทศต่างรายงานตรงกันว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดว่า กระแสนี้เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มคนเจเนเรชั่น Z (ที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี) และมองว่ากระแสดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลและผู้มีชื่อเสียงจากสหรัฐฯ เช่น เบลลา ฮาดิด, เฮลีย์ บีเบอร์, ดูอา ลิปา และกลุ่มศิลปินจากเกาหลีใต้อย่าง นิวจีนส์ ที่หันมาแต่งตัวตามแนวแฟชั่น Y2K ที่มีส่วนจุดประกายให้ผู้ติดตามหันมาแต่งตัวตามมากขึ้น

https://www.instagram.com/p/CfYcNlAsNer/?utm_source=ig_embed&ig_rid=4df34617-26b8-45e8-9cf3-856e4b4dc8d8

ส่วนข้อสังเกตสำคัญในการกลับมาครั้งนี้ของแฟชั่นคือ ด้วยบริบทในยุคปัจจุบัน แนวความคิดเรื่อง “การเปิดกว้างยอมรับความหลากหลาย (inclusivity) ในวงการแฟชั่นมากขึ้น ทำให้กลายเป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในการนำแฟชั่นรุ่นพ่อและแม่กลับมา

จุดแห่งความเจ็บปวด (pain point) ของแฟชั่น Y2K ในทศวรรษก่อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ เสื้อผ้าในยุคนั้นจะเน้นการออกแบบและสื่อออกมาเพื่อสำหรับคนมีร่างกายที่มีรูปร่างผอมเพรียวเท่านั้น แต่ในยุคปัจจุบัน ด้วยความเปิดกว้างทำให้ใครก็ตามที่มั่นใจในตัวเองก็สามารถแต่งกายในแบบ Y2K ได้

หรือไม่ก็ สามารถเป็น อีกี้” (ตัวละครสมมติในแบบที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกว่า “สก๊อยสาวยุค Hi5” ที่เป็นหนึ่งในตัวละครในมิวสิควิดีโอเพลง “ธาตุทองซาวด์” ของ ยังโอม ที่กำลังเป็นกระแส”) ได้ในแบบของตัวเอง

ด้วยกระแส “อีกี้” และ “Y2K” ทำให้คนสังคมออนไลน์ต่างพากันแชร์ภาพถ่ายในอดีตที่อยู่ในช่วงยุค Y2K กลายเป็นกระแสนิยมอยู่ในขณะนี้

“โย่ว และนี่คือเสียงจากเด็กวัด…”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว