เลือกตั้ง 2566 : ทักษิณ “ขออนุญาต” กลับไทย ทำไมต้องเดือน ก.ค.

AFP/Getty Images ทักษิณ ชินวัตร ออกจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยในเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าจะเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาได้แล้ว

“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” นายทักษิณทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์เช้าวันนี้ (9 พ.ค.)

ผู้นำคนที่ 23 ของไทย เป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย (พท.)

ในวันที่ น.ส.แพทองธาร คลอดบุตรชาย ซึ่งถือเป็นหลานคนที่ 7 ของอดีตนายกฯ พร้อมตั้งชื่อว่า “ธาษิณ” นายทักษิณเคยทวีตข้อความทำนองเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้ระบุห้วงเวลาที่แน่นอน

“ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็ว ๆ นี้ครับ ขออนุญาตนะครับ” นายทักษิณทวีตเมื่อ 1 พ.ค.

Advertisment

ต่อมา อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ตอบคำถามสื่อมวลชนในระหว่างเปิดแถลงข่าวเมื่อ 3 พ.ค. ว่า เรื่องกลับมาวันไหน เมื่อไร ไม่ได้คุยกับคุณพ่อ ท่านมีการวางแผนชีวิตของท่านเอง

น.ส. แพทองธาร บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ย้ำว่า การที่นายทักษิณจะกลับบ้าน ไม่เกี่ยวอะไรกับพรรค พท. หรือกระทบกับสิ่งที่กำลังหาเสียงอยู่ แต่ยอมรับมันแยกยาก เพราะนายทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และการเป็นลูกไม่สามารถตัดขาดได้ แต่สิ่งที่นายทักษิณพูดคืออยากกลับมาเลี้ยงหลาน ไม่เคยบอกอยากกลับมาเป็นนายกฯ ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย แต่คนชอบคิดว่าเกี่ยวกัน ก็ไม่แปลก

อุ๊งอิ๊ง

EPA : ปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี, คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา และ พินทองทา คณากรวงศ์ พี่สาว ร่วมแสดงความยินดีกับแพทองธาร หลังคลอดลูกคนที่ 2 ที่ รพ.พระราม 9 เมื่อ 3 พ.ค.

 

Advertisment

การออกมาเปิดเผยช่วงเวลาในการเดินทางกลับบ้านของนายทักษิณ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมต้องเป็นเดือน ก.ค.

บีบีซีไทยจึงขอเปิดปฏิทินการเมืองภายหลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 โดยเทียบเคียงกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนี้

  • 14 พ.ค. – วันเลือกตั้งทั่วไป
  • ภายใน 13 ก.ค. – กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 95% (ภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง)
  • 26 ก.ค. วันคล้ายวันเกิดปีที่ 74 ของนายทักษิณ
  • ภายใน 27 ก.ค. – เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภา (ภายใน 15 วันนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง)
  • ส.ค. – เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลา)
  • กลาง ส.ค. – จัดตั้งคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตน (ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลา)

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง กกต. ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันจากวันเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดว่า ภายใน 15 วันนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก

ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ไม่ได้มีเงื่อนเวลาบังคับเอาไว้ว่าต้องดำเนินการภายในกี่วัน

นายทักษิณพ้นจากตำแหน่งด้วยรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และถูกตั้งข้อหาทุจริตในหลายคดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 คดีที่ศาลพิพากษาแล้ว

  1. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี
  2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือที่เรียกกันว่า “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี
  3. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอกซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเชื่อ 4,000 ล้านบาทให้แก่พม่า ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี
  4. คดีให้นอมินีถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี

เมื่อ น.ส.แพทองธาร กลายเป็นผู้นำพรรค พท. สู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ภายใต้คำขวัญ “แลนด์สไลด์” ทำให้เธอถูกตั้งคำถามอยู่บ่อย ๆ ถึงการกำชัยชนะทางการเมือง เพื่อพาอดีตนายกฯ กลับบ้าน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว