ต่างประเทศใช้ MOU ตั้งรัฐบาลหรือไม่ เมื่อ “ก้าวไกล” เตรียมเสนอใช้กับพรรคร่วมรัฐบาล

Reuters นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ด้วยการนำเสนอการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในทางการเมืองของไทยมาก่อน

กระบวนการหารือเพื่อร่างข้อตกลงดังกล่าวเริ่มต้นแล้ววานนี้ (16 พ.ค.) โดยมีตัวแทนของพรรคการเมือง 5 พรรค ตามที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวประกาศชัยชนะเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม

ตามรายงานเบื้องต้น นอกจากการแสวงหาจุดร่วมทางการเมืองและนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ยังจะมีการเสนอชื่อผู้เหมาะสมนั่งตำแหน่งประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรองประธานทั้ง 2 ตำแหน่งอีกด้วย

ที่ผ่านมาในแวดวงการเมือง เมื่อพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล เวลาเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล มักจะตกลงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง และกระทรวงที่ตัวแทนแต่ละพรรคต้องรับผิดชอบแล้ว แต่ที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นการรับประกันความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลผสม มีเพียง “การให้สัตยาบัน” เท่านั้น

บรรยากาศขอบคุณประชาชนของพรรคก้าวไกล

Reuters

 

ทว่า ยังไม่เคยมีครั้งใดที่การหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจะลงเอยด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

แล้วในต่างประเทศ เมื่อต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม มีการลงนามในข้อตกลงลักษณะเดียวกัน กับที่พรรคก้าวไกลกำลังเจรจากับเหล่าพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ บีบีซีไทยรวบรวมมาเล่าให้ฟัง

สังคมประชาธิปไตยของชาติตะวันตกในอดีต การจัดตั้งรัฐบาลผสม หรือ coalition government เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่ พรรคการเมืองหลัก ๆ ของแต่ละประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรืออีกหลายชาติในยุโรป มักจะมีพรรคหลักเพียง 2 พรรค 2 ขั้ว

แต่ในบางช่วงเวลา อาจเกิดพรรคตัวแปรขึ้นมา จนทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Hung Parliament หรือ “ภาวะรัฐสภาแขวน” หรือไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด หรือเกินครึ่ง ทำให้รัฐบาลที่ชนะคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ต้องเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ

และเป็นที่มาของ “ข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล (coalition agreement)” ซึ่งปรากฏขึ้นแล้วในหลายประเทศ

สหราชอาณาจักร

(จากซ้าย) นายนิก เคลกก์ อดีตหัวหน้าพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนายเดวิด คาเมรอน อดีตหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

Getty Images (จากซ้าย) นายนิก เคลกก์ อดีตหัวหน้าพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนายเดวิด คาเมรอน อดีตหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

 

ในช่วงทศวรรษที่ 20 การจัดตั้งรัฐบาลผสมในรัฐสภาอังกฤษเป็นเรื่องที่เห็นไม่บ่อยครั้งนัก นับแต่เกิดการพัฒนาของพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักรในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เนื่องจากระบบการเลือกตั้งในอดีต พรรคการเมืองเดียวมีแนวโน้มสูงที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาล

จวบจนปี 2010 ที่ผลการเลือกตั้งทั่วไป กลับไม่มีพรรคการเมืองใดที่ครองเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดคือ พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ของนายเดวิด คาเมรอน จึงได้ตัดสินใจร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครตของนายนิก เคลกก์ จึงทำให้เกิด “ภาวะสภาแขวน”

รัฐสภาอังกฤษ

Getty Images

 

ศาสตราจารย์ เวอร์นอน บอกดานอร์ (Vernon Bogdanor) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ เคยกล่าวในหนังสือเรื่อง “The Coalition and the Constitution” (แปลเป็นภาษาไทยว่า รัฐบาลผสมและรัฐธรรมนูญ) ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2011 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเกิดขึ้นของรัฐบาลผสมในสหราชอาณาจักรในอดีตราวปี 1919, 1931 และ 1940 ว่า เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ

ส่วนการร่วมจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคคอนเซอร์เวทีฟและพรรคลิเบอรัลเดโมแครต หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2010 มีการจัดทำเอกสารข้อตกลงที่เรียกว่า “Coalition Agreement for Stability and Reform” ซึ่งครอบคลุมวาระสำคัญ ๆ เช่น นโยบายต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ และหลักการในความรับผิดชอบร่วมกันที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะสะท้อนถึงการสนับสนุนกันของแต่ละฝ่าย พันธะผูกพันร่วมกัน การให้คำปรึกษาแบบตรงไปตรงมาฉันมิตร เป็นต้น

ระหว่างการบริหารประเทศ รัฐบาลผสมจะประเมินและทบทวนความคืบหน้าของข้อตกลงและเผยแพร่เป็นเอกสารชี้แจง อย่างในปี 2013 รัฐบาลอังกฤษได้เผยแพร่เอกสารที่ใช้ชื่อว่า “Mid Term Review : The Coaltion : Together in the national interest” ที่เป็นการทบทวนผลงานและความร่วมมือ เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลผสมในครึ่งหลังของวาระการบริหารงานที่เหลือจะเป็นอย่างไร จะสานต่อความร่วมมือ (renewal) หรือไม่ และเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต

พรรคคอนเซอร์เวทีฟกับพรรคดียูพีลงนามในข้อตกลงร่วมต่างตอบแทนเพื่อทำให้นางเมย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้

Getty Images/ พรรคคอนเซอร์เวทีฟกับพรรคดียูพีลงนามในข้อตกลงร่วมต่างตอบแทนเพื่อทำให้นางเมย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้

 

ต่อมา รัฐสภาของอังกฤษก็ต้องกลับมาเผชิญกับภาวะสภาแขวนอีกรอบในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ซึ่งนางเทเรซา เมย์ ไม่สามารถนำพรรคคอนเซอร์เวทีฟคว้าชัยชนะด้วยการเป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งได้ เนื่องจากครองได้เพียง 318 ที่นั่ง

แต่ทางเลือกที่นางเมย์ตัดสินใจในการจัดตั้งรัฐบาลคือ การร่วมจับมือกับพรรคสหภาพประชาธิปไตย หรือ ดียูพี ที่มีขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ด้วยจำนวน ส.ส. 10 ที่นั่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคดียูพีจะไม่ร่วมรัฐบาล

ในครั้งนั้น ทั้งสองพรรคใช้เวลาต่อรองกันกว่าสองสัปดาห์ ก่อนลงเอยด้วยการลงนามในข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า “confidence and supply agreement” โดยมีสาระสำคัญคือ การให้การสนับสนุนพรรคคอนเซอร์เวทีฟผ่านการโหวตในวาระต่าง ๆ อาทิ การผ่านร่างงบประมาณและการลงมติไว้วางใจในกรณีรัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงสนับสนุนการออกกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการเบร็กซิต ความมั่นคง และอื่น ๆ

เพื่อการนี้ รัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟต้องให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการและนโยบายบางอย่างของพรรคดียูพี เช่น การเพิ่มงบประมาณให้กับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคดียูพีอีก 1 พันล้านปอนด์ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ ขณะที่พรรคดียูพีเองจะให้การสนับสนุนผู้นำอังกฤษในเรื่องการจัดทำงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการเบร็กซิต ความมั่นคง และแผนการออกกฎหมายต่าง ๆ

ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “MOU”

หลายคนอาจจะยังเกิดความสับสนเกี่ยวกับคำว่าข้อตกลง MOU ว่า ในทางกฎหมายมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

นายคณพศ เฟื่องฟุ้ง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเขียนบทความอธิบายความแตกต่างระหว่าง บันทึกความเข้าใจ หรือ MOU (Memorandum of Understanding) และ “บันทึกข้อตกลง” MOA (Memorandum of Agreement) ซึ่งคนมักจะใช้คำสับสนกัน ไว้ดังนี้

บันทึกความเข้าใจ (MOU) หมายถึง การจัดทำหนังสือโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจจะปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด และตามเงื่อนไขที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยหนังสือไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่แสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติดังที่ได้ระบุไว้ และอีกฝ่ายหนึ่งก็มีความเข้าใจเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายใดมิได้ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถฟ้องร้องในคดีได้ แต่ต้องพิจารณาเนื้อหาเป็นกรณีว่า MOU ที่ทำไว้นั้น เข้าลักษณะข้อตกลงหรือสัญญาหรือไม่

บันทึกข้อตกลง (MOA) คือ หนังสือหรือสัญญา ที่มีข้อความที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติหรือดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่ตกลง หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

ในทางกฏหมาย บันทึกข้อตกลงมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว เพราะข้อตกลงเป็นสัญญา ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติผิดสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้

เยอรมนี

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้วของเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2021 ลงเอยด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคโซเชียลเดโมแครต ซึ่งครองเสียงสนับสนุนจะประชาชนได้ 25.7% พรรคกรีน (14.8%) และพรรคฟรีเดโมเครต (11.5%) หลังเยอรมนีอยู่ภายใต้การบริหารงานของพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล มาอย่างยาวนานกว่า 16 ปี

ผู้นำจาก 3 พรรคการเมืองในเยอรมนีร่วมกันลงนามข้อตกลงเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จในวันที่ 7 ธ.ค. 2021

Getty Images/ ผู้นำจาก 3 พรรคการเมืองในเยอรมนีร่วมกันลงนามข้อตกลงเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จ ในวันที่ 7 ธ.ค. 2021

 

สำหรับข้อตกลงภายในพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสามพรรคดังกล่าว ลงนามในข้อตกลงที่มีจำนวนกว่า 177 หน้าในชื่อว่า “Dare more progress – Alliance for Freedom, Justice and Sustainability” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2021 เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

ข้อตกลง มีวาระสำคัญครอบคลุมในหลายด้าน อาทิ ด้านการสร้างรัฐทันสมัย การเปลี่ยนแปลงสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล และนวัตกรรม, พันธสัญญาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและลดภาวะโลกร้อน, การส่งเสริมการค้าการลงทุนและธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมอวกาศและทางทะเล, การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่ม, การสร้างงาน, รัฐสวัสดิการ, กระบวนการยุติธรรม และนโยบายต่างประเทศและสหภาพยุโรป

มาเลเซีย

ที่มาเลเซีย ด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะประกอบด้วยแนวร่วมทางการเมือง (bloc) กลุ่มต่าง ๆ จากอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แนวร่วมรัฐบาลบีเอ็น ซึ่งมีพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) มักจะชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล

ทว่าเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไป อย่างการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 เมื่อเดือน พ.ย. 2021 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีเพียง 2 แนวร่วมทางการเมือง แต่กลับเป็น 3 แนวร่วม เพราะความแตกแยกทางการเมือง ทำให้ 2 แนวร่วมเดิมอ่อนแอลง ในขณะที่ พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพาส (Parti Islam SeMalaysia หรือ PAS) ซึ่งมีฐานเสียงเป็นชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม ร่วมมือกับ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีจากอีกพรรคหนึ่ง

ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาเลเซีย บอกกับบีบีซีไทยว่า ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น มาเลเซียได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ แต่รัฐบาลใหม่กลับไม่มีความมั่นคง เพราะมีความขัดแย้งกันเองระหว่างพรรคอัมโนและพรรคร่วมรัฐบาล ในขณะนั้นพรรคพาสและพรรคของนายมูห์ยิดดิน ยังร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย และก็มีการแย่งชิงอำนาจภายในแนวร่วมรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ ของมาเลเซีย

Getty Images/ นายกรัฐมนตรีซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ ของมาเลเซีย

 

เธออธิบายเพิ่มเติมว่า การทำข้อตกลงในลักษณะ MOU ทุกประเทศจะมีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งสามารถทำระหว่างขั้วรัฐบาลด้วยกันหรือขั้วตรงข้ามอย่างฝ่ายค้านได้ โดยนับตั้งแต่ปี 2021 ในมาเลเซีย รัฐบาลได้ลงนามข้อตกลงแบบ MOU แล้ว 2 ฉบับ

“เมื่อมาถึงเดือน ธ.ค. 2021 รัฐบาลของนายซาบรี จะลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่หวั่นเกรงว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่โหวตให้ จึงหันไปคุยกับพรรคฝ่ายค้านคือ แนวร่วมพีเอช ของนายอันวาร์ อิบราฮิม จึงได้ทำข้อตกลงกัน หรือ MOU”

สาเหตุของการเปิดช่องการหารือกับแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน เพราะว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้รับความเห็นชอบโดยรัฐสภา จะส่งผลทำให้นายซาบรีต้องยุบสภาเพื่อเปิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ขณะที่พรรคแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยนายอันวาร์ก็ประเมินสถานการณ์แล้วว่า พรรคของตัวเองยังไม่พร้อมกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เร็วเกินไป ในขณะที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19

นักวิชาการรายนี้ อธิบายถึงเหตุผลหลัก ๆ ของการลงนามในครั้งนั้นแบบข้ามห้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ “ความมั่นคงของรัฐบาล” และต้องแลกสิ่งใดเพื่อเป็นการตอบแทนให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยให้สัญญาใน MOU เป็นประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

  • รัฐบาลจะไม่ยุบสภาก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2022 ซึ่งในขณะนั้นวาระของรัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี นับแต่ปี 2018 (โดยปกติรัฐบาลมาเลเซียมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี) เนื่องจากความอ่อนแอของรัฐบาล ทำให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับการยุบสภามาโดยตลอด ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลให้มีการยุบสภา เพราะต้องการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล โดยพวกเขาจะขึ้นมาครองอำนาจเอง
  • พรรคแนวร่วมฝ่ายค้านจะต้องสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือหากไม่เห็นด้วยก็จะไม่ออกเสียง โดยมีเงื่อนไขที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนคือ รัฐบาลจะต้องหารือกับฝ่ายค้านในการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ กับฝ่ายค้านเสียก่อน
  • พรรคร่วมฝ่ายค้านของนายอันวาร์ ที่เคยชอกช้ำจากกรณี “งูเห่า” หรือ ส.ส. ย้ายขั้วการเมืองจนทำให้รัฐบาลของเขาที่เพิ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้เพียงปีกว่า ส่งผลให้ไม่สามารถผลักดันวาระปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการห้าม ส.ส.ย้ายพรรค (anti-hopping law) เพื่อลดความปั่นป่วนทางการเมืองลง แต่ยังไม่สำเร็จ รวมทั้งการแก้กฎหมายว่าด้วยอายุผู้ออกเสียงเลือกตั้งจากเดิม 21 ปี มาเป็น 18 ปี ที่ผ่านการรับรองในรัฐบาลของนายอันวาร์แล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องนำเนื้อหาในข้อตกลงมาบังคับใช้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีซาบรี ยังต้องสานต่อการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการจำกัดวาระของนายกรัฐมนตรีลงมาเป็นสองวาระ คือไม่เกิน 10 ปีอีกด้วย

  • เงื่อนไขอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องยอมรับคือ งบฯสำหรับ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องได้รับเท่ากัน พร้อมกับเรียกร้องเพิ่มสัดส่วน ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ในกรรมาธิการต่าง ๆ ตามสัดส่วนของ ส.ส. ในสภา

ข้อตกลง MOU ครั้งนี้ระหว่างแนวร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีอายุสิ้นสุดไปแล้วเมื่อรัฐบาลยุบสภา ซึ่งทำให้นายซาบรีสามารถประคองความมั่นคงของรัฐบาลไปได้อย่างราบรื่น

ข้อตกลง MOU ฉบับที่ 2 มีขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2022 ภายใต้รัฐบาลของนายอันวาร์ ซึ่งเป็นรัฐบาลภายใต้แนวร่วมของพีเอช ร่วมกับพรรคบีเอ็นของพรรคอัมโน ซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นเดิมทางการเมือง และแนวร่วมการเมืองอื่น ๆ รวมกันเป็น 5 กลุ่ม โดยมีจำนวนที่นั่งในสภาค่อนข้างมั่นคงถึง 148 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความไม่มั่นคงอยู่ เนื่องจากยังมีความคลางแคลงใจต่อกลุ่มของพรรคอัมโน ซึ่งปรางทิพย์เชื่อว่า มีมูลเหตุที่เชื่อถือได้ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการลงนามข้อตกลงฉบับที่ 2 นี้ขึ้นมาเพื่อเสนอให้กับพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 กลุ่มในเดือน ธ.ค. 2022

โดยสาระสำคัญของ MOU ครั้งนี้ คือ

  • ส.ส.ของพรรคแนวร่วมทั้ง 5 กลุ่มจะต้องยกมือสนับสนุนนายอันวาร์ในทุกประเด็นเกี่ยวกับความไว้วางใจของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ และประเด็นทุกอย่างเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาล

“ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ได้กำหนดข้อกำหนดหนึ่งซึ่งนักวิชาการและนักกฎหมายต่างวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะระบุว่า ถ้า ส.ส. ผู้ใดจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยกมือสนับสนุนรัฐบาลตาม MOU ฉบับนี้ ก็ถือว่าให้พ้นสถานะ ส.ส.” เธออธิบาย

เงื่อนไงดังกล่าวนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนักกฎหมายตั้งคำถามว่า เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. ไม่มีสิทธิตัดสินใจเองในการยกมือ

  • เงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนคือ นายอันวาร์จะต้องหารือกับหัวหน้าพรรคหรือแนวร่วมทุกคน ทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีหารือ นายอันวาร์จะถอดถอนตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลจำเป็นต้องต่อรองกับผู้นำพรรคหรือแนวร่วมการเมืองอยู่ตลอดเวลา เพื่อแลกเปลี่ยนกับความมั่นคง และในการลงมติจะใช้การออกเสียงตะโกนพร้อม ๆ (voice vote) กันว่า จะรับหรือไม่รับในลักษณะเดียวกับกับสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ แทนการขานชื่อแต่ละคนเพื่อรับรองมติ

ทั้งนี้ การลงนาม MOU ดังกล่าว พรรคแนวร่วมรัฐบาลและพรรคพันธมิตรได้แถลงข่าวเพื่อแจ้งสาธารณะรับทราบทั้งสองครั้ง

“MOU อย่างที่เรารู้กันดีว่า ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย แต่สาธารณะจะรับรู้ แต่ถ้าใครบิดพลิ้วก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับในมาเลเซีย ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นที่เข้าใจกันและลงนามกัน และเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ใครจะได้อะไรและยอมรับกันได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว