“กรุงเทพฯกลางแปลง” : ประชาธิปไตยบนภาพเคลื่อนไหว เพื่อปลุกเศรษฐกิจ เพิ่มสีสันชีวิตยามค่ำคืนให้ กทม.

“ภาพยนตร์มันคือบันทึกประวัติศาสตร์นะ” ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้นิยามคุณค่าของภาพยนตร์

และตั้งแต่ 7 ก.ค. จนถึง 31 ก.ค. ภาพประวัติศาสตร์จะโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้งในสถานที่ที่ฉากนั้น ๆ ถูกถ่ายทำ ไม่ว่าจะลานคนเมือง หรือสยามสแควร์ ซึ่งชลิดา มองว่า เป็นประสบการณ์ล้ำค่า ที่หาไม่ได้จากโรงภาพยนตร์สมัยใหม่

“อย่างเรื่องแพรดำ (2504) มีช็อตลานคนเมือง ถ่ายไปเห็นพระบรมมหาราชวัง…ภาพรถสามล้อ และฉากพายเรือในคลองที่เรือเยอะมาก จนคนรุ่นใหม่อาจนึกไม่ออก” หรือจะเป็น “สยามสแควร์ (2527) และรักแห่งสยาม (2550) หนังคนเจนพี่ และเจนคนวัย 30 หลายคน ที่มองว่ามันคือความทรงจำ”

ภาพยนตร์เรื่องแพรดำ (2504)

ที่มาของภาพ, หอภาพยนตร์

เมื่อ 29 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ (Thai Film Archive) และเบ็ตเตอร์ บางกอก (Better Bangkok) ประกาศจัดเทศกาลภาพยนตร์กลางแปลงในกรุงเทพฯ ในชื่อ “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ระหว่าง 7-31 ก.ค. กระจายสถานที่จัด 10 แห่ง ภาพยนตร์ 25 เรื่อง เน้นภาพยนตร์ไทยเป็นหลัก

ผอ.หอภาพยนตร์กล่าวว่า การกระจายสถานที่จัดกิจกรรมไปที่ชานเมืองด้วย สะท้อนหลัก “ความเท่าเทียม” ที่เปิดกว้างสำหรับคนที่พร้อมและอยากจะเสพ และอยู่ในพื้นที่ที่ปกติไม่มีโรงภาพยนตร์ฉายหนัง

หนังกลางแปลง.net

แต่สำหรับก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์นั้น หนังกลางแปลงเป็น “ประชาธิปไตยของภาพเคลื่อนไหว” เพราะ “คนนั่งพื้น หรือยืนดูเหมือนกัน ไม่เหมือนหนังในโรงที่จำกัดแค่คนบางกลุ่ม”

“หนังกลางแปลงทลายอะไรหลายอย่างออกไป คนไร้บ้าน คนจรจัด คนทั่วไป ได้โอกาสเท่ากันในการดูหนังจอใหญ่”

ปลุกชีวิต “มหรสพยามค่ำคืน”

หนังกลางแปลงอยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน สมัยก่อนมีทั้งแบบพากย์หนังสด เครื่องฉายหนังแบบม้วนฟิล์ม และจอขนาดใหญ่กางบนพื้นที่โล่ง ม้านั่งเป็นแถว ๆ เรียงราย หรือไม่ก็ปูเสื่อ-ผืนผ้าชมกันเป็นครอบครัว หรือแบบคู่รักหนุ่มสาว

ผจงรักษ์ ชำเจริญ เขียนในบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อ 29 มิ.ย. 2565 ว่า หนังกลางแปลงเข้ามาสู่สยาม โดยคณะละครเร่ต่างชาติ ชื่อ ‘เอสจี มาร์คอฟสกี’ ฉายครั้งแรกวันที่ 10 มิ.ย. 2440 ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ต่อมาก็กลายเป็นมหรสพใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิมขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนชื่อนั้นก็เรียกหลากหลาย ทั้ง หนังล้อมผ้า/รั้ว หนังขายยา หน่วยประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

หนังกลางแปลงยังเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐและเอกชนใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย เห็นได้จาก “หน่วยเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์ที่โฆษณาข่าวสารจากรัฐ และหนังขายยาที่โฆษณา-ขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทตามหมู่บ้าน” ผจงรักษ์ เขียนในบทความ

bbc

ที่มาของภาพ, หอภาพยนตร์

“แม้จะมีโรงหนังเกิดขึ้นตามหัวเมืองและย่านชุมชน แต่พื้นที่ห่างไกลไม่มี หนังกลางแปลงก็เป็นพื้นที่ทางเลือก ทำให้อยู่คู่สังคมไทยมาเรื่อย ๆ” ชลิดา ผอ.หอภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” อธิบายกับบีบีซีไทย ก่อนจะยอมรับว่า ความนิยมของหนังกลางแปลงลดลงต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะคนมีทางเลือกมากขึ้น

ดังนั้น เทศกาลหนังกลางแปลงใน กทม. ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะฟื้นคืนวงการหนังกลางแปลงให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งหอภาพยนตร์เอง ก็คัดสรรภาพยนตร์ที่จะนำไปฉายให้เหมาะกับสถานที่จัดกิจกรรมแต่ละแห่ง เพื่อประสบการณ์รับชมที่มากกว่าความบันเทิง แต่เป็นการหวนย้อนถึงประวัติศาสตร์

หนังกลางแปลง…นำร่องสู่เป้าหมายยิ่งใหญ่

ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กำหนดเป็นนโยบายให้แต่ละเดือนมีกิจกรรมพิเศษในกรุงเทพฯ และเดือน ก.ค. เป็นเทศกาลเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่การเตรียมงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก แบบของเมืองปูซานของเกาหลีใต้ หรือเมืองคานส์ ของฝรั่งเศสนั้น อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ยอมรับกับบีบีซีไทยว่าต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้น เพื่อให้จัดเทศกาลได้ทัน และน่าสนใจ คำตอบจึงเป็น “หนังกลางแปลง” แม้จะค่อนข้างฉุกละหุกก็ตาม

โจทย์ของกรุงเทพมหานคร คือ กระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน สร้างวัฒนธรรมการดูหนังที่หลากหลาย เสพหนังเพื่อการเรียนรู้ และเข้าถึงประชาชนที่ไม่มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ “หนังกลางแปลงจึงดีที่สุด เพราะเราเลือกพื้นที่สาธารณะ และให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ พ่อค้าแม่ขายเข้ามาได้”

อนุชา ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เด่น ๆ อย่าง ‘อนธการ’ และ ‘มะลิลา’ อธิบายต่อว่า จะรวบรวมข้อมูลและผลตอบรับจากการจัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” เพื่อต่อยอดไปสู่การจัดเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติในกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยหนังกลางแปลงจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลด้วย

ชัชชาติ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ประกาศจัดเทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง"

ที่มาของภาพ, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

ส่วนผลระยะยาวของการจัดเทศกาลภาพยนตร์ในลักษณะนี้ คือ “การสร้างวัฒนธรรมดูหนังที่หลากหลาย” ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทยไปด้วย เพราะภาพยนตร์รูปแบบใหม่ ๆ “มันต้องมีฐานคนดูในระดับหนึ่ง…งานนี้จึงเหมือนเป็นการวิจัยและพัฒนา ได้ลองแนวใหม่ ๆ คอนเทนต์ของภาพยนตร์ไทยจะได้พัฒนาขึ้น”

จัดครั้งเดียวไม่ได้…ต้องต่อเนื่อง

แม้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งของประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าผู้อาศัยในกรุงเทพฯ ทุกคน จะเข้าถึงโรงภาพยนตร์ได้ ด้วยราคาความบันเทิงที่สูงเกินรายได้ของหลายครอบครัว

หอภาพยนตร์ที่จัดกิจกรรมพาเยาวชนเข้าชมหนังเก่าที่รักษาไว้บ่อย ๆ บอกกับบีบีซีไทยว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยแทบไม่เคยดูหนังจากจอใหญ่เลย

“เรามีทางเลือกเยอะ แต่ไม่ใช่คนทุกคนที่เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ หรือเข้าถึงได้อย่างจำกัด” ชลิดา กล่าว

หรือว่าคนกรุงเทพฯ จะมีเทศกาลหนังกลางแปลงทุกปี?

ที่มาของภาพ, หนังกลางแปลง.net

และถ้า กทม. จะสร้างปรากฎการณ์นี้แล้ว ก็ควรจัดต่อเนื่องเพื่อสร้างภาพจำ และรักษา “โมเมนตัม” ของการขับเคลื่อนไว้ จะจัดเพียงหนึ่งถึงสองครั้งไม่ได้ โดยก้อง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้เดินทางไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาด้วย สนับสนุนว่า “ถ้าจะจัดเพื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์จริง ก็ต้องมีหนังกลางแปลง เพื่อเมือง เพื่อใครก็มาดูได้”

“การดูจอรวมกัน เป็นวัฒนธรรมชมภาพเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง เป็นประวัติศาสตร์ของการพัฒนาของเมือง ของสังคมที่ก้าวข้ามช่วงเวลาประวัติศาสตร์”

และนี่ก็อาจเป็นประวัติศาสตร์ภาพยนตร์หน้าใหม่ของกรุงเทพฯ ที่หนังกลางแปลง จะไม่ใช่เพียงมหรสพโบราณ ที่กำลังเสื่อมถอยอีกต่อไป แต่เป็นอัตลักษณ์ใหม่ แลกิจกรรมเพื่อความบันเทิงยามค่ำคืนใหม่ของคนในกรุงเทพฯ

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว