Zipmex: ประมวลเหตุการณ์ “ซิปเม็กซ์” ระงับการถอนคริปโตฯ ก่อนผู้เสียหายนัดฟ้องร้อง 25 ก.ค.

หลังจากการล่มสลายของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเหรียญ LUNA ราวกลางเดือน พ.ค. ความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มีต่อตลาดคริปโตเคอร์เรนซีหรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงอีกครั้ง เมื่อแฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์สัญชาติไทยของบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา

บริษัทฯ ให้เหตุผลของการตัดสินใจดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กเพจ Zipmex Thailand ว่ามาจาก “ความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท” บริษัทจึงจำเป็นต้องระงับการถอนเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม

เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลใจแก่บรรดานักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลบนแฟลตฟอร์มซิปเมกซ์ที่ได้ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ของซิปเม็กซ์ แม้ว่าบริษัทจะขอให้ลูกค้าอดทนและยืนยันว่ากำลังเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้เสียหาย Zipmex Thailand” ได้ตัดสินใจนัดรวมตัวกันที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะในวันที่ 25 ก.ค. เพื่อดำเนินการแจ้งความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บางส่วนจะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ซิปเม็กซ์

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/ZIPMEX THAILAND

บีบีซีไทยประมวลข้อมูลเกี่ยวกับซิปเม็กซ์และเหตุการณ์สะเทือนวงการคริปโตฯ ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น

ซิปเม็กซ์คือใคร

กระแสความนิยมของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลดึงดูดให้นายมาคัส ลิม นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ และ ดร. เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้บริหารในสายงานบริษัทหลักทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาร่วมกันจัดตั้งบริษัทบริษัท ซิปเม็กซ์ เอเซีย พีทีอี ลิมิเต็ด (Zipmex Asia Pte Ltd.) ขึ้นในเดือน ส.ค. 2561 เพื่อให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรูปแบบ หลายสกุลเงินดิจิทัลบนกระดานเทรด โดยมีการดำเนินงานทั้งหมดใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ และออสเตรเลีย

ดร. เอกลาภ ยิ้มวิไล

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/เอกลาภ ยิ้มวิไล

สำหรับบริษัทในไทย บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 112 ล้านบาท เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจระบุว่า ดร. เอกลาภ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% จำนวน 3,161,999 หุ้น ขณะที่ บริษัท ซิปเม็กซ์ เอเซีย พีทีอี ลิมิเต็ด (Zipmex Asia Pte Ltd.) ถือสัดส่วน 49% จำนวน 3,038,000 หุ้น ส่วน ลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส (หรือ มาคัส ลิม) ถือหุ้นจำนวน 1 หุ้น

การกระโจนเข้ามาในธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัลในช่วงขาขึ้นทำให้ซิปเมกซ์กลายเป็นหนึ่งในดาวรุ่ง และดึงดูดเงินทุนจากผู้ลงทุนรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ปี 2564 บริษัท ซิปเม็กซ์ สามารถระดมทุนได้มากกว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 220 ล้านบาท จาก Jump Capital บริษัทการลงทุนสัญชาติอเมริกันที่มีบริษัทพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งรวมถึง TradingView ซอฟต์แวร์สร้างแผนภูมิบนคลาวด์ และซอฟต์แวร์โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับนักลงทุนมือใหม่และนักลงทุนระดับสูง

ซิปเม็กซ์

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/ZIPMEX Thailand

ส.ค. 2564 บริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มาสเตอร์แอด จำกัด (มหาชน) เข้าลงทุนในซิปเม็กซ์ รวมกันราว 300 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนของแพลนบี ราว 50 ล้านบาท และมาสเตอร์แอดราว 250 ล้านบาท

ก.ย. 2564 บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือธนาคารกรุงศรี ได้เข้าลงทุนในซิปเม็กซ์ โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 1% เพื่อเป็นการศึกษาเทคโนโลยี ก่อนที่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 3% ในปัจจุบัน

จนถึงขณะนี้บริษัทสามารถระดมทุนเพื่อการขยายธุรกิจหรือ Series B จากพันธมิตรธุรกิจได้รวมกว่า 1,700 ล้านบาท

ทำไมจึงระงับการเพิกถอนเงินชั่วคราว

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ อยู่ที่ ZipUp+ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจะฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไปยังบริษัท ซิปเม็กซ์ โกลบอล ที่สิงคโปร์ และบริษัทดังกล่าวได้นำสินทรัพย์ดิจิทัลไปลงทุนต่อกับ บริษัท บาเบล ไฟแนนซ์ (Babel Finance) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่ให้บริการสถาบันในตลาดการเงินคริปโตในฮ่องกง และอีกบริษัทคือ บริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปล่อยกู้สกุลเงินคริปโตแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ

ซิปเม็กซ์

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/ZIPMEX Thailand

ปัจจุบัน ทั้งสองบริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังจากโปรเจกต์ Terra-Luna ที่ล่มสลายไปแล้วในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับกรณี บ.บาเบลฯ ได้ประกาศระงับการถอนไปเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. หลังทราบข่าวนี้ ซิปเม็กซ์ โกลบอลได้เจรจาเรียกร้องให้ทางบาเบลคืนสินทรัพย์ให้โดยเร็วที่สุด จนถึงขั้นมีการจัดทำแผนการจ่ายคืน แต่การเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. กลับเป็นไปในเชิงลบ ซิปเม็กซ์จึงตัดสินใจแจ้ง ก.ล.ต. และผู้บริหารได้แจ้งลูกค้าผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าซิปเม็กซ์ได้เริ่มกระบวนการฟ้องร้อง บ.บาเบล ไฟแนนซ์แล้ว

US dollar bills and coins symbolising Bitcoins

ที่มาของภาพ, Reuters

ส่วน บ.เซลเซียสฯ ได้ประกาศระงับการฝาก-ถอนในวันที่ 13 มิ.ย. และในเวลาต่อมาในวันที่ 13 ก.ค. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐฯ เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย กรณีนี้ผู้บริหารซิปเม็กซ์ ระบุว่าได้ดำเนินการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการรองรับการสูญเสียสินทรัพย์ที่นำไปฝากกับเซลเซียสฯ และจะดำเนินคดีความทางกฎหมายต่อคู่ค้ารายนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ซิปเม็กซ์ได้ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับ บ.บาเบลฯ เป็นมูลค่า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,758 ล้านบาท และฝากไว้กับ บ.เซลเซียสฯ เป็นมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 183 ล้านบาท

ปมโอนสินทรัพย์ลูกค้าไปฝากในต่างประเทศ

การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าภายใต้การดูแลของบริษัทที่จดทะเบียนในไทยไปยังอีกบริษัทในสิงคโปร์เพื่อนำไปฝากต่ออีกทอด กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ รวมทั้ง ก.ล.ต. ที่ได้ส่งหนังสือไปยัง บ.ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) เป็นครั้งที่สองในวันที่ 21 ก.ค. เพื่อให้ชี้แจงรายละเอียดของเหตุการณ์อย่างครบถ้วน รวมถึงทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ภายใต้การดูแล และให้แสดงหลักฐานการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ฝากไว้ในโปรแกรม ZipUp+ ไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ บ.เซลเซียสฯ และ บ.บาเบลฯ

ซิปเม็กซ์

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/ZIPMEX Thailand

ทว่า น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน มองว่า การขอคำชี้แจงเพิ่มเติมของ ก.ล.ต. ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความกระจ่างต่อสังคม เธอให้ความเห็นทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า ก.ล.ต. ควรดำเนินการสอบสวนว่า บ.ซิปเม็กซ์ได้ดำเนินการผิดเงื่อนไขใบอนุญาต ที่ไม่ให้แตะต้องสินทรัพย์ของลูกค้าหรือไม่ และสัญญาเป็นธรรมกับลูกค้าหรือไม่

น.ส. สฤณีเสนอว่า การสอบสวนของ ก.ล.ต. อาจจะต้องทำร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิสูจน์ว่าการโอนสินทรัพย์ของลูกค้าไทยไปยังสิงคโปร์ดำเนินการอย่างไร และสัญญาระหว่างซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) และซิปเม็กซ์ โกลบอลฯ เป็นอย่างไร

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

นอกจากนี้ นักวิชาการอิสระด้านการเงินรายนี้ยังเสนอให้สอบสวนว่าบริษัท “รู้” หรือ “คาดเดา” ตั้งแต่เมื่อไหร่ว่า บ.เซลเซียสฯ เกิดปัญหา เพราะบริษัทมีการเชิญชวนให้ลูกค้าใส่เงิน ZipUp+ ในช่วงไม่กี่วันก่อนประกาศระงับการถอน กรณีเช่นนี้ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว