เทียบการเมืองไทยกับอังกฤษ : ไล่-เลือกอย่างไร ใครจะเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักรคนต่อไป

หลังเผชิญข่าวฉาวตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ก็ยอมลาออกจากตำแหน่งเมื่อต้นเดือน ก.ค.

การลาออกนำมาซึ่งการแข่งขันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่เสนอตัวแข่งขันกันเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศด้วย โดยขณะนี้การแข่งขันงวดเข้ามา จนเหลือคู่แข่งเพียง 2 คนแล้ว

ผลลัพธ์จะเป็น ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหญิงคนที่สองของชาติ หรือ ริชี สุนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั่วโลกจะได้รับทราบพร้อมกันในช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

8 ปี มี นายกรัฐมนตรี 4 คน

กราฟฟิค
ริชี สุนัค – ลิซ ทรัสส์

เมื่อสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟราว 160,000 คน หรือ 0.3% ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วสหราชอาณาจักร ลงมติเป็นที่เรียบร้อย อังกฤษจะได้นายกฯ คนที่ 4 ในรอบ 8 ปี

ขณะที่ประเทศไทยยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองเก้าอี้บริหารสูงสุดของประเทศอย่างต่อเนื่อง

หากเปรียบเทียบการเมืองระหว่างสองประเทศ เช่นนี้จะเรียกได้หรือไม่ว่าการเมืองสหราชอาณาจักรไม่มีเสถียรภาพ

ตามความเห็นของ ดร.พลอยใจ การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ่อย ๆ กลับเป็นตอกย้ำถึงความมีเสถียรภาพของโครงสร้างทางการเมืองอังกฤษ ขณะที่การมีผู้นำเพียงคนเดียวยืนยาวตลอด 8 ปี ไม่ได้สะท้อนความมีเสถียรภาพหรือไม่มีเช่นเดียวกัน

“เสถียรภาพทางการเมืองมีความหมายที่ต่างกันออกไป แต่ระบบการเมืองที่แข็งแรง ต้องรับกับแรงสั่นสะเทือนได้” ดร.พลอยใจ กล่าว

พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

ที่มาของภาพ, พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

เธออธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็น เดวิด คาเมรอน, เทรีซา เมย์ หรือแม้แต่บอริส จอห์นสัน ต่างก็ลาออกจากตำแหน่งเพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้

ทั้งกรณีที่แนวทางของชาติไม่สอดคล้องกับจุดยืนของตัวเองอย่างตอนที่นายคาเมรอนซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรอยู่กับสหภาพยุโรปต่อ เลือกประกาศลาออกหลังจากผลประชามติเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรป

หรือกรณีที่ตัวนายกฯ ไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป กรณีของนางเมย์นั่นเป็นเพราะเธอไม่สามารถหาข้อสรุปตอนรัฐสภาอังกฤษเลือกข้อเสนอเบร็กซิทเพื่อเจรจากับฝั่งสหภาพยุโรปได้สักที

ในช่วงเวลาก่อนที่เธอจะลาออกนั้น คะแนนความนิยมของเธอต่ำลงมาก ขณะที่รัฐมนตรีตบเท้าลาออกจากรัฐบาลที่เธอเป็นผู้นำมากกว่า 30 คน

ส่วนกรณีล่าสุดของนายจอห์นสันนั้น เขาโดนกดดันอย่างต่อเนื่องทั้งจากที่สมาชิกพรรคตัวเองเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้เขาจะได้คะแนนสรุปว่าให้อยู่ต่อ แต่แล้วก็เกิดคลื่นรัฐมนตรีลาออกตามมาเป็นประวัติการณ์

เมื่อพิจารณาเหตุผลการลงจากตำแหน่งของนายกฯ แต่ละคน ดร.พลอยใจ ชี้ว่า เพราะนายกฯ ของอังกฤษจำเป็นต้องฟังรัฐสภา หากคะแนนสนับสนุนไม่เพียงพอ “คุณกระดิกตัวไปไหนไม่ได้เลย” ด้วยเหตุนี้ การเมืองของอังกฤษจึงต้องนับว่ามีเสถียรภาพ

“การลงจากตำแหน่งของรัฐมนตรีหลาย ๆ คน สะท้อนเสถียรภาพทางการเมืองด้วยซ้ำ รองรับเสียงประชาชนได้ขนาดนี้ กลไกมันสามารถทำงานไปได้ “

ทำไม ส.ส.พรรคตัวเองยื่นไม่ไว้วางใจนายกฯ

หนึ่งในวัฒนธรรมทางการเมืองของอังกฤษที่ค่อนข้างแปลกไปจากไทยคือการที่สมาชิกพรรคหรือแม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลเลือกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ของพรรคตัวเอง

ริชี สุนัค

ริชี สุนัค, Reuters

ในประเด็นนี้ ดร.พลอยใจ อธิบายว่านั่นเป็นเพราะตัวคนที่ขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้นำพรรคในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นเป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ ของประวัติศาสตร์พรรคการเมืองในอังกฤษ

สำหรับกรณีของนายจอห์นสัน เขาเองก็เป็น “จุดเล็ก ๆ ” ในประวัติศาสตร์ 187 ปี ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ “พอคิดจากมุมมองแบบสถาบันทางการเมือง สมาชิกพรรคก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง หน้าตา อนาคตทางการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่สมาชิกพรรคตัวเองไม่สนับสนุน”

เมื่อสิ่งที่นายจอห์นสันทำมีแนวโน้มทำลายชื่อเสียงของพรรคที่อยู่มายาวนานกว่าเขามาก เขาจึงต้องออกไป

สำหรับอีกหนึ่งประเด็นที่คนไทยอาจสงสัยคือเหตุใดผู้มีสิทธิเลือกนายกฯ คนใหม่จึงเป็นสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟจำนวนไม่ถึงสองแสนคน เท่านั้น ดร.พลอยใจ ขี้ว่า นั่นเป็นเพราะอังกฤษใช้ระบบการเมืองแบบรัฐสภาไม่ใช่แบบประธานาธิบดี กล่าวคือเขา “ไม่ได้มองหาคนที่ได้คะแนนนิยมมากที่สุด”

นอกจากนี้ รูปแบบการเมืองแบบประธานาธิบดีนั้นจะมีการเลือกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแยกกัน ขณะที่การเมืองรัฐสภาจะให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้าพรรคที่ได้เก้าอี้ ส.ส.มากที่สุด

ดังนั้น กรณีของอังกฤษ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกไป แต่อยู่ที่ผู้บริหารหรือหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ จึงเป็นเหตุให้พรรคต้องเลือกผู้นำขึ้นมาใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่

เธอเสริมต่อว่า เมื่อมองในมุมมองการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ยังมีความแตกต่างจากไทยอีกเรื่องคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งในอังกฤษไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ และยังมีอำนาจน้อยมากในการปฏิบัติงาน

“เสียงข้างมากของ ส.ส. ตีตกข้อเสอ ส.ว.ได้”

เชื่อต่อไปที่ความสัมพันธ์กับกองทัพ เธออธิบายว่า หากจะบอกว่ากองทัพของอังกฤษไม่มีอิทธิพลทางการเมืองเลย ก็คงไม่ถูกนัก “แต่ไม่ได้มีการเอานายพลมานั่งเป็นนายก”

ผู้ท้าชิงสองคนสุดท้าย

เมื่อให้มองแนวโน้มว่าระหว่าง รมว.หญิงแห่งกระทรวงต่างประเทศกับอดีต รมว.คลัง ดร.พลอยใจ มองว่านางทรัสส์อาจมีความน่าจะเป็นสูงกว่าที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ

ลิซ ทรัสส์

ลิซ ทรัสส์, Reuters

ปัจจัยสนับสนุนประการแรกเป็นเพราะคนอังกฤษค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวนโยบายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามยูเครนในขณะนี้ของเธอ ขณะที่นายสุนัคกลับเผชิญหน้ากับข่าวฉาวเรื่องที่ภรรยามหาเศรษฐีของเขาหนีภาษี

นอกจากนี้เธอยังพยายามนำเสนอตัวเองเป็น “หญิงเหล็ก” ตามรอยผู้นำในตำนานอย่างนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์

ทว่าเธอปิดท้ายว่า แท้จริงแล้วสำหรับคนอังกฤษผู้ท้าชิงทั้งสองคนนั้น “ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรมากนัก”

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว