น้ำลายเธอ น้ำลายฉัน และ(เชื้อโรค)อะไรที่ส่งถึงกันได้?

สวัสดีค่ะ ปกติเวลาที่เราซื้อน้ำมาดูด แล้วยื่นให้เพื่อนดูดต่อ แล้วเราก็สลับกันดูดไปมา คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมคะว่า นอกจากชานมไข่มุกในแก้วที่เราแบ่งปันกับเพื่อนแล้ว ยังมีเชื้อโรคอะไรที่เราแบ่งปันกันทางน้ำลายได้บ้าง

ปกติแล้วน้ำลายของเราจะมีเอนไซม์และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้บางส่วนอยู่แล้วค่ะ การติดโรคกันทางน้ำลาย มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก นอกจากว่าเรามีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หรือมีแผลในปาก มีเชื้อราในปาก เหงือกอักเสบ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าค่ะ

วันนี้เราจะมาคุยกันนะคะว่าอะไรที่ผ่านมาทางน้ำลายกันได้บ้าง

– หวัด ไข้หวัดใหญ่ เพราะช่องปากนั้น ติดต่อโดยตรงกับปาก จมูก และลำคอ ดังนั้นเชื้อที่อยู่ตามจมูก ลำคอ สามารถเดินเล่นมาหาน้ำลายได้ง่ายอยู่แล้วค่ะ ดังนั้นถ้าเป็นหวัดไม่ควรทานร่วมกับใคร และควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจามด้วยนะคะ

– เริม (ชนิดที่ 1 มักเป็นที่ปาก ชนิดที่ 2 มักเป็นที่อวัยวะเพศ) เริมสามารถติดต่อผ่านทางแผลเริมบริเวณริมฝีปากหรือบริเวณใกล้ ๆ ปาก ติดต่อได้ทุกระยะ โดยเฉพาะตอนแผลเริมแตกมีน้ำเยิ้มยิ่งแพร่เชื้อโรคได้ง่ายเลยค่ะ

– ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ส่วนใหญ่ไวรัสตับอักเสบบี จะติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์ แต่มีรายงานว่าติดต่อกันทางน้ำลายได้ด้วย (แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม) ส่วนไวรัสตับอักเสบอื่น ๆ อย่างไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) ติดต่อผ่านทาง การปนเปื้อนของอุจจาระ เข้าปาก เช่น น้ำดื่มที่ปนเปื้อนค่ะ ส่วนไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อกันทางเลือดค่ะ

– ไวรัสบางชนิด เช่น Ebstein Barr Virus, Cytomegalovirus

– แบคทีเรีย strep

ส่วนไวรัส HIV ไม่ติดต่อกันทางน้ำลายนะคะ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการแลกน้ำลายช่องทางอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็น

– จูบ นอกจากความรักที่ส่งถึงกันแล้ว เชื้อโรคก็ส่งถึงกันได้ทางการสัมผัสและทางน้ำลายด้วยค่ะ

– ใช้แปรงสีฟันร่วมกัน อันนี้ไม่แนะนำอย่างแรงนะคะ เพราะการแปรงฟันอาจทำให้เกิดบาดแผลเล็ก ๆ ในช่องปากได้ง่ายกว่า ทำให้สามารถติดโรคผ่านทางแผลเล็ก ๆ ในช่องปากได้ค่ะ

– ใช้ที่กัดฟันร่วมกัน

วันนี้คงพอได้ข้อมูลกันแล้วนะคะว่าน้ำลาย ไม่ว่าจะจูจุ๊บ หรือใช้ของร่วมกันก็มีความเสี่ยงในการส่งต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เช่นกันค่ะ ดังนั้นทางที่ดี (โดยเฉพาะถ้ากำลังป่วย) หลอดใครหลอดมัน แปรงใครแปรงมันกันดีกว่านะคะ สวัสดีค่ะ