นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการทำความเห็นแย้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ว่า ยังต้องรอความเห็นจากที่ประชุม กรธ. เพราะต้องต้องตั้งคณะทำงานไปดูก่อน เพราะ สนช.แก้ร่างกฎหมายเยอะ ต้องดูว่าส่วนที่ สนช.แก้ทำให้เจตนารมณ์เพี้ยนไปหรือไม่ ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ เจตนารมณ์ที่สำคัญคือ การเลือกตั้งต้องเป็นไปด้วยความลับ สุจริต เที่ยงธรรม ให้ประชาชนได้รู้คุณค่าของคะแนนเสียง อะไรที่ผิดไปจากนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่น การไปแก้เนื้อหาโดยให้ช่วยคนพิการกาบัตร ซึ่งสงสัยว่าเป็นการเลือกตั้งโดยลับหรือไม่ เพราะร่างเดิมเขียนว่าให้ช่วยเหลือคนพิการกาบัตรได้ แต่ของใหม่ให้กาบัตรแทน ถ้าคนตาบอดแล้วเรากาบัตรแทน คนตาบอดก็ไม่มีทางรู้ว่ากาให้ตามที่เขาต้องการหรือไม่
นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่การให้จัดมหรสพช่วงเวลาที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งนั้น เป็นปัญหาหลายอย่าง เช่น อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และเหมือนกับเป็นการติดสินบนชาวบ้านอย่างหนึ่ง และค่าใช้จ่ายยากที่จะควบคุม แต่ กรธ.ได้ผ่อนปรนในร่างเดิมของ กรธ. โดยให้ผู้สมัครเลือกตั้งใช้ความสามารถของเขาเองได้โดยไม่มีเครื่องมือ คนพูดเก่งก็พูด บางคนร้องเพลงเก่งร้องเพลงหาเสียงก็สามารถทำได้ ทุกคนใช้ขีดความสามารถของตัว แต่ไม่ถึงขั้นให้จัดมหรสพ ส่วนกรณีที่ การขยายเวลาการเลือกตั้ง 07.00-17.00 น. จากเดิมเวลา 08.00-16.00 น อาจเป็นปัญหาต่อคนทำงาน เดิมเปิดหีบแปดโมงเช้า กรรมการประจำหน่วยต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ ถ้าเปิดเจ็ดโมงเช้าก็ต้องตื่นตีสาม ต้องเห็นใจ และยามวิกาลมีหีบบัตรมาเข้ามาที่หน่วย ก็อาจเกิดอันตรายได้ จึงต้องพิจารณากันอีกครั้ง
“การตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ต้องไปดูว่าตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ถ้าไม่ใช่เรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็คงไปโต้แย้งไม่ได้ แต่จะไม่โต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าขัดรัฐธรรมนูญต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายมีชัย กล่าว