รู้จัก USAR ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

USAR
ภาพจาก AFP

รู้จักทีม USAR ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และช่วยเหลือด้านใด

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้มีการส่งทีมค้นหากู้ภัย หรือ ทีม Urban Search and Rescue (USAR) นำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ไปแล้ว จำนวน 42 คน โดยมีแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ และเวชกิจฉุกเฉิน จำนวน 3 คน จากกรมการแพทย์ร่วมเดินทางไปด้วย

ซึ่งระหว่างเดินทาง พนักงานสายการบินได้ประกาศให้ผู้โดยสารทราบถึงการไปปฏิบัติภารกิจของทีมประเทศไทย ซึ่งได้รับรายงานว่าเดินทางถึงอิสตันบูล ประเทศตุรกีแล้ว โดยจะเข้าพื้นที่ไปช่วยค้นหากู้ภัยผู้ประสบภัย ประเมินสถานการณ์ ขนาดของภัยพิบัติ ความเสียหายของระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบทางการแพทย์

และส่งข้อมูลเหล่านี้กลับมายังศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูม กรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวประเทศตุรกี ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งขึ้น เพื่อนำมาประมวลและจัดการสนับสนุนความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักทีมค้นหากู้ภัย หรือ ทีม Urban Search and Rescue (USAR) ให้มากยิ่งขึ้น

USAR
ภาพจาก AFP

ทีม USAR คืออะไร

การค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) ตามหลักเกณฑ์ของคณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ  International Search and Rescue Advisory Group (INSARAG) ภายใต้องค์กรสหประชาชาติ หมายถึง “กระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในอาคารถล่ม” ซึ่งมักเป็นผลจากการเกิดแผ่นดินไหว พายุไซโคลน การก่อการร้าย หรืออื่น ๆ

ทีมค้นหา และกู้ภัยแบ่งออกเป็นกี่ประเภท

ทีมค้นหาและกู้ภัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.ทีมค้นหาและกู้ภัยขนาดเบา (Light Team) เป็นทีมปฏิบัติการระดับชุมชน มีทักษะในการค้นหาและกู้ภัยในเหตุอาคารถล่มเฉพาะบริเวณที่มีผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย หรือถูกซากอาคารทับไม่หนักมากนัก

2.ทีมค้นหาและกู้ภัยขนาดกลาง (Medium Team) สามารถเคลื่อนย้ายและยกวัตถุได้ทุกรูปแบบ สามารถทำงานในพื้นที่ประสบภัยเพียง 1 แห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลามากกว่า 7 วัน

3.ทีมค้นหาและกู้ภัยขนาดหนัก (Heavy Team) สามารถทำงานในพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลานานกว่า 10 วัน

องค์ประกอบทีมค้นหา และกู้ภัย

องค์ประกอบหลักทีมค้นหา และภู้ภัยขนาดกลาง/หนัก ประกอบด้วย

1. Management การจัดการ

  • การสั่งการ/การประสานงาน
  • การวางแผน/ติดตาม
  • ผู้ประสานงาน/สื่อ/รายงาน
  • การประเมิน/การวิเคราะห์
  • ความปลอดภัยและความมั่นคง
  1. Search การค้นหา
  • การค้นหาเชิงเทคนิค
  • การค้นหาโดยสุนัข
  • การประเมินวัตถุอันตราย
  1. Rescue การกู้ภัย
  • จนท. กู้ภัย
  • จนท. ทำลาย
  • จนท. ตัด
  • จนท. ค้ำยัน
  • จนท. ใช้อุปกรณ์เชือกกู้ภัย

4.Medical การแพทย์ ให้การรักษาภาวะฉุกเฉิน และดูแลสุขภาวะของสมาชิกทีมค้นหาและกู้ภัย รวมถึงสุนัขค้นหาและผู้ประสบภัย (หากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติ) ที่ถูกพบในระหว่างการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย

5.Logistics การส่งกำลังบำรุงให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทีมค้นหาและกู้ภัยในการปฏิบัติงานตลอดทั้งวัฏจักรการเผชิญของการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง รวมถึงการบริหารจัดการสถานที่เก็บสิ่งของ (cache) ฐานของการปฏิบัติงาน (Base of Operations-BoO) การสื่อสาร การขนส่ง และการข้ามชายแดน

USAR
ภาพจาก AFP

ขั้นตอนการปฏิบัติการค้นหา และกู้ภัย

ขั้นตอนการปฏิบัติการค้นหา และกู้ภัย ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนตาม (INSARAG)

1.การเตรียมความพร้อม (Preparedness) หมายถึง ช่วงเวลาของการทบทวนบทเรียนจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุง และพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติ การฝึกอบรม และการวางแผนการปฏิบัติสำหรับภัยพิบัติในอนาคต

2.การเตรียมตัวออกปฏิบัติงาน (Mobilisation) หมายถึง การเตรียมตัวออกปฏิบัติงานทันทีหลังจากที่เกิดเหตุภัยพิบัติเพื่อลงพื้นที่ประสบภัย

3.การปฏิบัติงาน (Operations) หมายถึง ขั้นตอนการปฏิบัติในพื้นที่เกิดเหตุเริ่มตั้งแต่การรายงานตัว การปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการท้องถิ่น และการยกเลิกการปฏิบัติงาน

4.การถอนกำลัง (Demobilisation) หมายถึง การถอนกำลังออกจากพื้นที่ประสบภัย เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น หรือได้รับคำสั่งให้ยุติปฏิบัติการ

5.การรายงานผลการปฏิบัติ (Post-Mission) หมายถึง การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย และการจัดประชุมถอดบทเรียนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงาน

USAR
ภาพจาก AFP

การเขียนเครื่องหมาย ระบบเครื่องหมายแบบ INSARAG ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเพื่อแสดงให้เห็น เพื่อแบ่งปันข้อมูลสำคัญระหว่างทีมกู้ภัยและบุคลากรในงานภาคสนามอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างด้านความเข้มแข็งด้านการประสานงานและลดความซ้ำซ้อนของงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องระบุและใช้วิธีการดำเนินงานแบบอย่างเดียวกันที่เป็นสากล

INSARAG Marking System ระบบการทำเครื่องหมายของ INSARAG มีองค์ประกอบหลักในการทำเครื่องหมายอยู่ 3 ส่วน คือ

1.การทำเครื่องหมายพื้นที่ปฏิบัติงาน (Worksite Marking)

2.การทำเครื่องหมายผู้ประสบภัย (Victim Marking)

3.การทำเครื่องหมายการเคลียร์พื้นที่อย่างรวดเร็ว (Rapid Clearance Marking), การทำเครื่องหมายกั้นเขต (Cordon Markings), การเขียนสัญลักษณ์ในการสื่อสารสำหรับทีม USAR ตามมาตรฐาน INSARAG  2015

ส่วนการทำเครื่องหมายกั้นเขต (Cordon Markings) คือการเขียนเครื่องหมายสัญลักษณ์ สำหรับการสื่อสารระหว่างทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง USAR เพื่อที่จะเข้าใจถึงการปฏิบัติงานของทีมอื่น ๆ ถึงแม้ไม่ได้พูดคุยหรือพบกัน ในการแจ้งผลการปฏิบัติงาน หรือการพบผู้ประสบภัย หรือระดับการปฏิบัติงาน เป็นสัญลักษณ์เพื่อการสื่อสารเฉพาะของทีม USAR ตามมาตรฐานสากล

ข้อมูล : Vajira Intensive Paramedics