เล่นหุ้นฉบับมือใหม่ เปิดวิธีซื้อขายหุ้นทุกสเต็ป บนแอป Streaming

เล่นหุ้นฉบับมือใหม่ เปิดวิธีซื้อขายหุ้นทุกสเต็ป บนแอปพลิเคชั่น Streaming ด้าน ตลท.เผยจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชี สิ้น ก.พ.66 กว่า 3.4 ล้านราย

วันที่ 15 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ที่มีความสนใจจะเล่นหุ้น โดยจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่าในช่วงเดือน ก.พ.2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชีหุ้นกว่า 3,438,953 ราย รวมบัญชีกว่า 5,917,808 บัญชี โดยจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชี โดยมีมูลค่าซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกว่า 877,271 ล้านบาท

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความเข้าใจเครื่องมือการซื้อขายหุ้นบนแอปพลิเคชั่น Streaming เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุนจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ควรจะรู้

แต่ก่อนจะซื้อหุ้นได้นั้น ให้ทุกคนดาวน์โหลดแอปฯ Streaming ลงมือถือ และต้องไปเปิดพอร์ตหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ก่อน โดยอาจพิจารณาการเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ต่าง ๆ จากการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นเป็นตัวประกอบได้

โดยเมื่อเปิดบัญชีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางโบรกเกอร์จะให้ Username สำหรับซื้อขายหุ้นมาให้เรา สำหรับใช้ซื้อขายผ่านบนแอปฯ Streaming ที่เป็นโปรแกรมยอดนิยม หรือใช้ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ของทางโบรกเกอร์แต่ละแห่ง

โดยเมื่อเราเปิดแอปฯ Streaming จะเจอหน้า Login เข้าสู่ระบบ ให้เราเลือกโบรกเกอร์ที่เราเปิดบัญชีไว้ และกรอก Username จำนวน 6 หลัก พร้อมทั้งกรอก Password ที่เรากำหนดเอง ลงไปให้เรียบร้อย

เมื่อ Login เสร็จแล้วจะเข้าสู่หน้าสรุปภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) มูลค่าการซื้อขายต่อวัน ดัชนีสูงสุด-ต่ำสุด เส้นกราฟการเคลื่อนไหวระหว่างวัน

หากเราต้องการซื้อขายหุ้นก็ให้เลือกตรงแถบเมนู Buy/Sell ที่อยู่บริเวณด้านล่าง กรณีเลือกคำสั่งซื้อ (Buy) จะมีสัญลักษณ์ “Buy” กรอกตัวย่อชื่อหุ้นที่ต้องการซื้อ และใส่จำนวนหุ้นที่ต้องการในช่อง “Volume” เช่น 100 หุ้น, 500 หุ้น, 1,000 หุ้น, 10,000 หุ้น เป็นต้น และใส่ราคาหุ้นที่ต้องการในช่อง “Price” ที่สำคัญจะต้องใส่ PIN รหัสประจำตัว 6 หลัก เสร็จแล้วให้กดคำว่า Buy

โดยถ้ามีนักลงทุนยินดีขายหุ้น คำสั่งซื้อจะมีสถานะ (Status) ขึ้นว่า M (Matched) ซึ่งหมายถึงคำสั่งซื้อตามราคาที่เราเสนอซื้อได้รับการจับคู่แล้ว โดยหุ้นจำนวนนั้นก็จะเข้ามาอยู่ในพอร์ตของเรา โดยเช็กได้ที่แถบ “Portfolio” ที่อยู่บริเวณด้านล่าง ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นลักษณะเดียวกับกรณีเลือกคำสั่งขาย (Sell) แต่หุ้นในจำนวนนั้นก็จะออกจากพอร์ตของเรา

โดยเงินที่ได้จากการซื้อขายหุ้นจะเข้ามาอยู่ใน Line Available หรือช่องที่แสดงถึงยอดเงินในบัญชีหลักทรัพย์ของเราที่อัพเดทแบบเรียลไทม์ เช่น มีเงินในบัญชีหลักทรัพย์ 5,000 บาท กดซื้อหุ้นไป 3,000 บาท ยอดเงินคงเหลือใน Line Available ก็จะแสดงยอด 2,000 บาท ทันที

ทั้งนี้ Line Available คือมูลค่าเงินคงเหลือที่แท้จริง จะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ให้ดูที่ยอดนี้ ส่วนอีกช่องข้าง ๆ คำว่า Cash balance คือมูลค่าเงินสดที่แท้จริงที่จะสามารถถอนออกมาใช้ได้ ณ ขณะนั้น

โดยตามปกติแล้วทั้งสองยอดนี้จะมีมูลค่าเท่ากัน แต่หากมีการขายหุ้นออกไป ยอดเงินของ Cash balance ต้องรอให้ผ่านกระบวนการชำระราคา 2 วันทำการ หรือ T+2

ทีนี้เรามารู้จักคำสั่งซื้อขายอื่น ๆ กันบ้าง เริ่มกันที่คำว่า Limit จะหมายถึงการระบุราคาซื้อขายเอง คำว่า ATO หมายถึงการซื้อขายทันที ณ ราคาเปิดตลาด คำว่า ATC หมายถึงการซื้อขายทันที ณ ราคาปิดตลาด

คำว่า MP หมายถึงคำสั่งซื้อ ณ ราคาเสนอขายต่ำสุด หรือเสนอขาย ณ ราคาเสนอซื้อสูงสุด คำว่า MP-MKT เหมือน MP แต่ถ้าจับคู่ไม่หมด ระบบจะตัดจำนวนที่เหลือทิ้ง และคำว่า MP-MTL เหมือน MP แต่ถ้าจับคู่ไม่หมด จะไปรอจับคู่จำนวนที่เหลือ ณ ราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย

นอกจากนี้มาดูกันว่า Status ที่แสดงขึ้นมาหลังจากส่งคำสั่งไปนั้น มีความหมายว่าอย่างไรกันบ้าง เริ่มที่ Pending หมายถึง SETTRADE ได้รับคำสั่งซื้อขายแล้ว S หมายถึง SETTRADE ส่งคำสั่งซื้อขายไป ตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) SX หมายถึง ตลท.ได้รับคำสั่งซื้อขายแล้ว

O หมายถึง ตลท.ได้รับคำสั่งซื้อขายแล้ว C หมายถึง ตลท. ยืนยันการยกเลิกคำสั่งซื้อขาย R หมายถึง ตลท. ปฏิเสธคำสั่งซื้อขายนั้น A หมายถึง ตลท. ยืนยันการยกเลิกคำสั่งซื้อขาย M หมายถึง คำสั่งซื้อขายได้รับการจับคู่แล้ว และ E หมายถึง คำสั่งซื้อขายหมดอายุ

นอกจากนี้แอป Streaming ไม่ได้ใช้แค่ซื้อขายหุ้นเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนเครื่องมือการลงทุนแบบครบวงจร เช่น ดูกราฟ ราคาหุ้นแบบเรียลไทม์ เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค เป็นต้น

โดยมีฟังก์ชั่นที่ต้องใช้บ่อย ๆ คือ Sum (สรุปภาพรวมตลาด) Watch (ลิสต์รายชื่อหุ้นที่เราสนใจ) Quote (การค้นหาชื่อหุ้น) Bid (ดูความเคลื่อนไหวหุ้นที่สนใจ) Tricker (แสดงการซื้อขาย ณ ขณะนั้น รายวินาที) และ Portfolio (หุ้นในพอร์ตของเรา)

ทีนี้เมื่อเราศึกษาเครื่องมือการลงทุนทั้งหมดอย่างเข้าใจแล้ว รวมถึงได้มีการพิจารณาเลือกหุ้นในดวงใจที่จะลงทุนได้แล้ว พร้อมทั้งเติมเงินเข้าไปในพอร์ตหุ้นของเราเองแล้ว ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้เลย