ลาคลอดรับเงินเดือนเต็ม 98 วัน รมว.แรงงาน ชง ครม.วาระด่วน

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน  ตอบกระทู้ในสภา เตรียมเสนอ ครม.ให้ผู้ประกันตน ลาคลอดรับเงินเดือนชดเชย 98 วัน

วันที่ 11 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา กรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของนายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตอนหนึ่ง กรณีผู้ประกันตนลาคลอดบุตร โดยได้รับเงินรายได้ชดเชย ว่า

“ขณะนี้กำลังเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอนาคตอันใกล้ โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นำเสนอเรื่องการลาคลอดบุตร แบบมีการชดเชยเงินเดือน เท่าเงินเดือน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่าย 49 วัน ส่วนอีก 49 วัน ประกันสังคม เป็นผู้รับผิดชอบต่อ ผู้ใช้สิทธิในการลาคลอดบุตร จะได้รับเงินเดือน 98 วัน โดยได้รับเงินค่าจ้างเต็ม จะนำเข้า ครม.ในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์ถัดไป”

นายพิพัฒน์ตอบเรื่องค่าแรงขั้นต่ำด้วยว่า การคิดค่าแรงขั้นต่ำ 20-30 ปีที่ผ่านมา ยังใช้ข้อมูล ฐานเดิมในทุก ๆ ปี ตนเพิ่งเข้ามาในกระทรวงแรงงาน มีการประชุมวันที่ 8 ธ.ค. 2566 และ 20 ธ.ค. 2566 โดยให้อนุไตรภาคีแต่ละจังหวัด นำเสนอเข้ามาสู่คณะกรรมการไตรภาคี

“ส่วนตัวก็ทักท้วงในการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก ว่าไม่เห็นด้วย กับการเอาสูตรคำนวณ ที่นำปี 2563-2564 มาเป็นฐานในการคำนวณ เพราะเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นช่วงเศรษฐกิจทั้งโลกตกต่ำขั้นสุด เท่าที่พวกเราในอายุขนาดนี้ ที่เจอมา คือประมาณ 100 ปี 1 ครั้ง เมื่อมีการทักท้วงและประชุมกันอีกครั้ง ในวันที่ 20 ธ.ค. 2566 มติก็ออกมาเหมือนเดิม เป็นมติเอกฉันท์ทั้ง 3 ฝ่ายตามที่ประชุมครั้งแรก ซึ่งตนต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เพราะหากไม่นำเข้า อาจจะโดนเรื่องการละเว้น เรื่องของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”

รมว.แรงงานกล่าวด้วยว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ในวันที่ 17 ม.ค. 2567 เพื่อทำงานเชิงรุก และจะประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในบางสาขาอาชีพ บางพื้นที่ที่คิดว่าจะประกาศได้สูงกว่าที่เคยประกาศมา และประกาศใช้ในปัจจุบันนี้ คาดว่าจะเป็นของขวัญ วันสงกรานต์ได้ ขอเวลา 1 ปี สำหรับการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2568 แต่ก็จะมีการประกาศในบางพื้นที่ บางอาชีพ เป็นเบื้องต้นก่อนวันปีใหม่ไทย