3 ชาติ ทุ่ม 1.5 ล้านล้านบาท พัฒนายาง-เส้นทางท่องเที่ยว -ผลิตภัณฑ์ฮาลาล

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทน รมต.ประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย -มาเลเซีย- ไทย ในฐานะประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 แผนงาน IMT-GT โดยมี พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผวจ.กระบี่ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษย์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันแถลงข่าว ถึงผลการประชุมหารือร่วม 3 ประเทศ

ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทน รมต.ประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย -มาเลเซีย- ไทย ในฐานะประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีบุคคลสำคัญจากประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT และหุ้นส่วนการพัฒนาเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ดร.รัดซี จิดิน รมช.กระทรวงการเศรษฐกิจ ของมาเลเซีย ดร.ริซาล อาฟฟานดี ลุคมาน ผช.รมว.กระทรวงการเศรษฐกิจ ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดร. อาลาดิน ดี ริลโล รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายราเมซ ซูบรามาเนียม ผอ.สนง.ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และ จ.กระบี่ ในฐานะเจ้าภาพร่วมกันจัดประชุมฯ โดยรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT- GT ของทั้งสามประเทศได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ โดยมีสาระสำคัญ คือ การเน้นย้ำระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ โดยมีโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ จำนวน 39 โครงการ มูลค่ารวม 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท และกรอบความร่วมมือ ด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ (CIO) เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ IMT-GT ทั้งสามประเทศ จึงเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการดำเนินโครงการที่ยังคงคั่งค้าง รวมถึงการเร่งรัดจัดทำความตกลงร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ IMT- GT เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยง อาทิ โครงการทางด่วนสายสุมาตราทั้งสามตอน โครงการท่าเรือกัวสลาตันหยง ระยะที่ 1

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาช่องทางการค้าออนไลน์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใน IMT-GT การฝึกอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ การพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจในภาคการผลิตสินค้ายาง นำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลในอุตสาหกรรมยาง การพัฒนาแอพลิเคชันอาหารฮาลาล และการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยต่อยอดจากการยอมรับมาตรฐานการตรวจรับรองฮาลาลระหว่างกันใน IMT-GT การพัฒนา IMT-GT ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดหมายเดียวกัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ร่วมกัน เช่น การท่องเที่ยวฮาลาล เส้นทางวัฒนธรรม เพอรานากัน เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณี ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างยั่งยืน การพัฒนาความร่วมมือโครงการเมืองยางพาราระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบยางในภูมิภาคให้มากขึ้น และส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เสนอแนวทางการผลักดันแผนงาน IMT-GT โดยให้มีการจัดลำดับความสำคัญในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจตามมิติการเชื่อมโยงที่เหมาะสม สอดคล้องกับการปรับบทบาทของระเบียงเศรษฐกิจทั้งหกที่บูรณาการระหว่างกัน โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ในระดับโลก และภูมิภาค ที่ส่งผลกระทบต่อ IMT-GT โดยเฉพาะด้านการขนส่งทางบก อาทิเช่น การเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ณ จ.สงขลา กับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮฺตัม ณ รัฐ เคดาห์ของประเทศมาเลเซีย เร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกทั้งสองแห่ง เพื่อเชื่อมโยงกับรัฐเประและรัฐกลันตัน เพิ่มโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยังเสนอให้มีการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขยายการจัดตั้งเมืองสีเขียว ภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นแบบอย่างในการขยายตัวต่อไปในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งขับเคลื่อนแผนการขนส่งสีเขียวในเมืองที่มีศักยภาพอย่างมีบูรณาการระหว่างเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ IMT-GT ส่วนการประชุมครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในปี 2563 โดยส่งมอบให้สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับแผนงาน IMT- GT