ถอดบทเรียนโควิด-19 “ต้องปรับตัว-ไม่ยอมแพ้” นักธุรกิจต้องคิดต่อ

กลุ่มนักวิชาการและนักธุรกิจจังหวัดชลบุรี ร่วมกันหาแนวทางไปต่อในยุคที่เศรษฐกิจกำลังประสบภาวะวิกฤตรอบด้าน ด้วยการจัดเสวนาหัวข้อ “ยุคโควิดนักธุรกิจต้องคิดต่อ ℂ𝕆𝕍𝕀𝔻 ℂ𝕙𝕒𝕟𝕘𝕖 𝕥𝕠 ℂ𝕙𝕒𝕞” ซึ่งใจความสำคัญของการเสวนานี้่คือ การร่วมกันหาทางออก การแชร์ประสบการณ์ ร่วมไปถึงการตั้งรับกับวิกฤติที่ตั้งรับไม่ทันได้อย่างไร ในงานเสวนาประจำปีหอการค้าจังหวัดชลบุรี ที่จัดในรูปแบบออนไลน์

นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรีและผู้บริหารข้าวตราไก่แจ้ ขนมแม่นภาและบริษัทในเครือ (ด้านอาหาร) กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ COVID Change to Champ ยุคโควิดนักธุรกิจต้องคิดต่อ เมื่อวันศุกร์ ที่ 14 สิงหาคม 2563 ว่า สิ่งที่รับมือหลังจากโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย สิ่งแรกที่ทำคือ จะทำยังไงให้พนักงานไม่ติดโควิด-19 เพราะธุรกิจต้องผลิตทุกวันทุกเวลา ผมเลยคิดว่าจะต้องทำอย่างไรให้พนักงานไม่ติด จึงเรียกทีมงานประชุมว่าจะต้องทำอย่างไร จะมีวิธีคัดกรองคัดแยกอย่างไร ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะขายดีหรือไม่ดี ลูกค้าอยู่ตรงไหน คิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานปลอดภัยก่อน และไม่ติดโรคระบาด นั่นคือสิ่งที่ทำและใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยลดการประชุมและพบปะกันของพนักงานพยายามที่จะให้แต่ละคนอยู่ห่างกัน

“ในทางกลับกัน เรามองว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบ แต่เรากลับได้รับอานิสงส์ ธุรกิจผมทำข้าว แต่ในอีกหลายๆประเทศมีความกังวลว่า ถ้าโควิดเกิดมาระยะยาวมันจะทำให้เขาขาดข้าวบริโภคในประเทศ หลายๆประเทศที่เป็นคู่แข่งเราอย่างอินเดีย เวียดนาม ปิดไปหลายประเทศและชะลอเพื่อรอสถานการณ์ ทำให้ประเทศไทยที่เปิดอยู่ประเทศเดียว สามารถส่งไปได้ทั่วโลก ลูกค้าเราก็เกิดอาการแพนิคเหมือนกัน กลัวว่าถ้าเกิดเหตุการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง แล้วถ้าเกิดท่าเรือปิดหรือโรงงานเราปิด เขาจะขาด ช่วงนั้นกลายเป็นว่างานเราเข้ามาเยอะมาก เรากลับกลายมากังวลว่า เราจะทำอย่างไร บริหารคนอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์ Supplied ตรงนั้น กลายเป็นว่าเราได้รับผลกระทบในเชิงบวก

แต่ถ้าในอีกธุรกิจหนึ่งในด้านของโรงแรมอันนั้นก็จะคนละเกมส์เลย นั่นก็คือกลายเป็นว่าผมต้องปิด ผมมีโรงแรมที่ จ.แพร่ ที่นั่นก็ประกาศปิดจังหวัด จากที่เคยมีลูกค้าตลอด พอปิดจังหวัด ลูกค้าเหลือศูนย์เลย นั่นเป็นผลที่เราต้องปรับตัว จึงมีการประชุมว่าเราจะทำอย่างไรกับการที่เราไม่มีรายได้เลยและเราจะไปต่อยังไง จากที่เคยมีรายได้ทุกเดือน บริหารจัดมีกระแสเงินสดเข้ามาตลอด งานที่เคยจองยกเลิกหมด คิดต่อว่าจะทำอย่างไรโดยที่ไม่ลดหรือไล่พนักงานออกแม้แต่คนเดียว”

นายนายธีรินทร์ มองว่า ถ้าเกิดสถานการณ์ลากยาวไปอีก 1-3 ปี ต้องมองว่าเราต้องจำศีล ในที่นี้หมายความว่า “บริษัทอยู่ได้และพนักงานอยู่ได้ แต่ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่าถอยกันคนละครึ่งก้าว แต่ผมจะการันตีเลยว่าผมจะไม่เอาพนักงานออก ข้อดีอย่างหนึ่งคือผมทำหลายธุรกิจ และธุรกิจหลักของผมคือ ธุรกิจข้าวและขนม และอีกเรื่องนึงที่ทำเลยคือ เรื่องของประกันโควิดจึงทำประกันให้เขามั่นใจในระดับนึง”

นายนายธีรินทร์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะเป็นเชิงบวกแต่ก็ไม่ประมาท ต้องเตรียมรับมือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้จะได้ประโยชน์จากโควิด-19 เมื่อทุกอย่างกลับมาสู่ความเป็นจริง สิ่งที่ต้องทำคือเตรียมเรื่องของกระแสเงิน เราจะวางแพลนอย่างไร ถ้าเศรษฐกิจไทยตก ไม่มีการเดินทาง คนบริโภคน้อยลง จึงวางแผนว่าจะเดินยังไงถึงจะสามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจทั้งหมดได้

“ช่วงนั้นเครียด แต่ผมชอบความท้าทาย ชอบความเปลี่ยนใหม่ ทุกครั้งที่เปลี่ยนใหม่จะมีอะไรดีๆเข้ามา อย่างฐานลูกค้าใหม่ แนวทางการบริหารจัดการใหม่ๆที่เราได้เรียนรู้ และได้ใกล้ชิดกับลูกน้องมากขึ้น ทำให้มีความผูกพันมากขึ้น ทุกคนรักในองค์กรมากขึ้นอย่างชัดเจน ผมไม่ได้มองว่าโควิด คือวิกฤต มันแค่ช่วงหนึ่งของการทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การปรับตัวสำหรับนักธุรกิจ ต่อให้ไม่มีการปรับตัวกับสถานการณ์ที่มันเข้ามา ต่อให้เศรษฐกิจดี ถ้าคุณไม่ปรับตัว บางทีอาจไม่ประสบความสำเร็จก็มีเยอะ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในช่วงวิกฤตเลย ถ้าไม่คิดถึงการปรับตัว คุณก็ไม่พร้อมที่ปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์ที่มันเข้ามาหรือว่าหาช่องทางที่มันพอจะไปได้ เพราะก่อนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจของคุณ คุณต้องดูตัวคุณเองก็ต้องปรับเพื่อที่จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเลยคือเราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องไม่คิดว่ามันไม่มีทางไปแล้ว ผมคิดว่า ทุกๆธุรกิจสามารถไปได้หมด มันอยู่ที่ความคิดของคุณ บางธุรกิจบางคนทำไม่ดีเลยแต่ทำไมอีกคนทำถึงโตขึ้นมาได้ ถึงสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ ถ้าคุณไม่ยอมแพ้และยอมปรับเปลี่ยน ไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไร คุณไม่ต้องกังวลเลย ถ้าคุณทำ 2 สิ่งนี้ได้ ปรับตัวได้เร็วและปรับเปลี่ยนได้เร็ว ผมคิดว่าคุณอยู่ได้ตลอด”

ทางด้าน พศ.ดร.ระพีพร ศรีจำปา คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “วิกฤตโควิดในครั้งนี้ไม่ได้เป็นวิกฤตในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นวิกฤตในภาพรวมของประชาคมโลก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาวิกฤตแต่ละครั้งที่เราเจอมันเทียบกันไม่ได้เลย อย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง สิ่งที่เราเรียนรู้เป็นบทเรียนจากวิกฤตนี้ คือ เรื่องของผู้ประกอบการ SME ที่เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เรามีการฟื้นตัวในด้านเศรษฐกิจขึ้นมาได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่ในวิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้ ซึ่งทุกอย่างที่เป็นวิกฤตที่ประเทศไทยเราฝ่าฟันมาได้ด้วยดีนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เรายอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และเรารีบที่จะหาทางแก้ไข และปรับตัวให้ได้โดยเร็วที่สุด ถึงแม้หลายคนจะมองว่าในอีก 2-3 ปีมันอาจจะดีขึ้นเหมือนอย่างเคย แต่ตนมองว่ามันจะดีขึ้นได้ คือ ทุกคนต้องช่วยกันโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เป็นองคาพยพใหญ่ของภาคเศรษฐกิจของธุรกิจประเทศ”

ส่วน “พิทยาภรณ์ กมลพรพันธ์ เหรัญญิก” หอการค้าจังหวัดชลบุรีและผู้บริหารเครือโครงการนิรันดา (ด้านอสังหาริมทรัพย์) ได้กล่าวถึงการปรับตัวรับมือกับโควิดว่า ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของหมู่บ้านจัดสรรของตนค่อนข้างโดนผลกระทบหนัก ในเรื่องของกำลังซื้อของลูกค้า ซึ่งตนก็ได้มีการปรับตัวโดยการให้คำแนะนำปรึกษากับลูกค้ามากขึ้น ทั้งในเรื่องของการกู้ยืมเงินจากธนาคาร หรือการให้คำแนะนำต่างๆ แต่ในส่วนของอพาร์ทเม้นท์นั้น ได้มีการเติบโตมากขึ้นในช่วงต้นปี แต่หลังจากที่โรงงานต่างๆ เริ่มมีการปลดพนักงานลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาส่งผลทำให้ยอดขายอพาร์ทเม้นท์ตกลง ตนจึงได้มีการวางแผนรับมือต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของตน เช่น การพักหนี้ต่าง ๆ ตามรัฐบาลประกาศ รวมถึงคิดค่าเช่าเพียงครึ่งเดียว เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในส่วนหนึ่ง “เพราะถ้าลูกค้าเราอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน” แต่ในสถานการณ์ที่ลูกค้าตกงานก็จะมีการคืนค่าประกันห้องคืนลูกค้า หลังจากการเคลียร์ห้องแล้วทั้งหมด

ขณะที่ “ไกรสร ฉัตรเลขวนิช” รองประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี ฝ่ายการศึกษา กรรมการผู้จัดการ บ.ประชารัฐ จำกัด กรรมการผู้จัดการบริษัท แสงรุ่งกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัท แสงรุ่ง เป็นบริษัทที่ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกบรรจุพวกของเหลว ซึ่งในช่วงโควิด ถือได้ว่าเป็นความโชคดีของบริษัทที่ยอดเราโตขึ้น 150% ต่อเนื่องมา 2 เดือน เนื่องจากทุกคนในช่วงนั้นต่างต้องการบรรจุภัณฑ์มาใส่พวกแอลกอฮอล์ ซึ่งวิกฤตโควิดในครั้งนี้ก็ได้สร้างและปรับเปลี่ยนโครงการของการทำงานของตนไปมาก โดยตนได้เริ่มทำการเก็บข้อมูลสินค้าต่างๆ เพื่อให้สินค้าสามารถกระจายไปให้ลูกค้าอย่างทั่วถึง โดยการดูตัวเลข แชร์ตัวเลขในอดีตต่างๆ และสร้างออกมาเป็นตารางเพื่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง

“ผมเชื่อว่าโควิดเป็นตัวทดสอบเรา ถ้าเปรียบกับสุขภาพก็คือภายใน ถ้าคนที่แข็งแรงก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจก็คือ Backbone ของข้อมูล ถ้าเรามีการเข้าใจธุรกิจเราในยุคที่มันมีการเปรียนแปลงอย่างที่ไม่เคยคาดเดา ผมว่ามันเป็นการที่ทำให้เราตัดสินใจได้เฉียบขาดมากยิ่งขึ้น” ไกรสร กล่าว

ด้าน “ภิติวัจน์ วงษ์จิรโรจน์” รองประธานหอการค้าชลบุรีฝ่ายพาณิชย์ ประธาน YEC หอการค้าชลบุรี กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอล เอเซีย แปซิฟิก จำกัด กล่าวว่า “สิ่งแรกที่เรามอง คือ การรักษาพนักงานไว้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยที่เราจะไม่มีการลดเงินเดือนหรือปลดพนักงานออกเลยในช่วงแรก ซึ่งเราได้คำนึงทั้งในด้านของสุขภาพความปลอดภัยของพนักงาน และมาตรการด้านความปลอดภัยของการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของเรา ที่ต้องมีการตรวจเช็คอุปกรณ์ต่าง ๆ ทุกครั้ง แต่เนื่องด้วยเรามีสินค้าเกี่ยวกับพวกเคมีภัณฑ์ที่เป็นตัวส่วนผสมที่ใช้ในการทำเจลล้างมือ จึงทำให้บริษัทเรายังพออยู่ได้ เรามีลูกค้าทั้งลูกค้าเก่า-ใหม่ติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพอสินค้าเริ่มขาดตลาดและสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าสิ่งเดียวที่เราทำได้คือการจัดสรรสินค้าที่เรามีให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงกำไรแล้ว แต่เราคำนึงเพียงว่าเราจะต้องกระจายสินค้าให้ออกสู่ตลาดมากที่สุด โดยที่ราคาไม่สูง”

ส่วนทางด้าน “สุภาวดี ผิวทอง” รองประธานกรรมการบริษัท สุภาวุฒิ อินดัสทรี จำกัด (ด้านยานยนต์) ได้กล่าวว่า ในด้านธุรกิจของตนที่เป็นการส่งอะไหล่ยานยนต์ค่อนข้างได้รับผลกระทบหนัก โดยธุรกิจของตนเพิ่งจะฟื้นเมื่อช่วงเดือนที่แล้วจากยอดสั่งซื้ออะไหล่ยานยนต์จากต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ตนได้ปรับตัวขึ้นมานั้น คือ การสื่อสารทางออนไลน์ ทั้งในด้านของการขายสินค้าและการสื่อสารภายในองค์กรแทน

“โควิดในครั้งนี้มันเป็นเหมือนการเช็ค loyalty ของพนักงานที่มีต่อองค์กร มันทำให้เราเห็นว่าเขาช่วยเราอย่างไร เราช่วยเขาอย่างไร และเราทุกคนจะไปด้วยกันได้อย่างไร มันทำให้เรามองเห็นตรงนี้จริงๆ” สุภาวดี กล่าว

อีกหนึ่งผู้ประกอบการ “กณวรรธน์ เตพละกุล” ผู้บริหารบริษัท อีซูซุ ฮั่วเชียงจั่น จำกัด (ด้านยานยนต์และขนส่ง) กล่าวว่า “ในช่วงเดือนแรกที่โควิดเข้ามาทำให้ยอดขายเราตกลง 60-70% จึงทำให้เราต้องมานั่งประชุมกัน และเปลี่ยนการขายมาเป็นการขายออนไลน์แทน ซึ่งมันสามารถทำให้ยอดขายของเราโตขึ้นมาได้ถึง 70% และในช่วงหลังนี้ยอดการขายรถยนต์ออนไลน์ดีมากถึงขั้นรถยนต์ของเราไม่พอขายกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้โควิดยังทำให้เราได้สัมผัสกับพนักงานมากขึ้น จากปกติเราจะคุยแต่กับผู้จัดการแล้วส่งมาที่พนักงานขาย แต่ตอนนี้เราไปไหนไม่ได้เราจึงได้คุยกันมากขึ้น เราได้คุยกับพนักงานทุกระดับ ซึ่งมันทำให้เราสัมผัสทัศนคติของเขาที่มีต่อองค์กร ความคิดบางอย่างของเราที่เราอาจจะเคยมองข้ามไป ซึ่งมันทำให้เราได้แนวคิด แนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การทำ LIVE FACEBOOK จากที่เราไม่เคยทำมาก่อน ที่เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของเราให้ดีขึ้น”