“ศักดิ์สยาม” กดราคาสายสีแดง ประเดิมเก็บตามระยะทางเริ่ม 14-42 บาท

“ศักดิ์สยาม” เคาะค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” คิดตามระยะทาง เริ่ม 14 บาท เหมาตลอดสาย 42 บาท ก.ค.ทดลองนั่งฟรี 3 เดือน เก็บตังค์ พ.ย.นี้ คาดคนใช้ 80,000 เที่ยวคน/วัน เผยรัฐลงทุนเองต้องไม่เป็นภาระประชาชน ร.ฟ.ท.ชงบอร์ดเคาะ มี.ค.นี้ TDRI ชี้รัฐต้องอุดหนุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี 3 เดือนสำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 41 กม. จำนวน 13 สถานีในเดือน ก.ค.นี้ และจะเก็บค่าโดยสารเดือน พ.ย.นี้โดยคิดตามระยะทาง ส่วนแรกเข้า 14 บาท ตลอดสายไม่เกิน 42 บาท ซึ่งเป็นราคามาตรฐานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่ามีผู้ใช้บริการปีแรก 80,000 เที่ยวคน/วัน

“สายสีแดงรัฐเป็นผู้ลงทุน 1 แสนล้านบาท การคิดค่าโดยสารต้องไม่เป็นภาระประชาชน การจัดเก็บรายได้ก็เข้าคลังเพื่อชำระหนี้การลงทุนต่อไป”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ค่าโดยสาร 14-42 บาท เป็นอัตราที่ รฟม.และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เห็นชอบร่วมกัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติ มี.ค.นี้ ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติจึงจะประกาศได้ ทั้งนี้ อัตรานี้ไม่ทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ขาดทุน และไม่ต้องขออุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO)

“สายสีแดงมี 2 ช่วง คือ บางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเก็บ 14-42 บาท และบางซื่อ-รังสิต เก็บ 14-42 บาท แต่เราให้เก็บอัตราเดียว 14-42 บาทตามระยะทาง ค่าแรกเข้า 14 บาท เก็บเพิ่ม 2 บาทต่อกิโลเมตร เช่น สถานีกลางบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15 กม. มี 3 สถานี เก็บ 14-42 บาท แต่ถ้าลงระหว่างสถานีจะเสียตามระยะทาง เช่น ลงสถานีบางซ่อนเก็บ 19 บาท นั่งตลิ่งชันถึงรังสิต 42 บาท ต่างจากบีทีเอส MRT จะคิดเพิ่ม 2-3 บาทต่อสถานี”

ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.เสนอโมเดลเก็บค่าโดยสารสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต 15 สถานี (รวมสถานีอนาคต) โมเดลแรก อัตรา 16-128 บาท ค่าแรกเข้า 16 บาท เก็บเพิ่ม 2.95 บาทต่อกิโลเมตร ช่วงบางซื่อ-รังสิต 16-84 บาท ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 16-61 บาท และโมเดลที่ 2 คิดแบบมีส่วนลด อัตรา 15-72 บาท ค่าแรกเข้า 15 บาท เก็บเพิ่ม 1.5 บาทต่อกิโลเมตร ช่วงบางซื่อ-รังสิต 15-50 บาท และบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15-38 บาท

“ร.ฟ.ท.ต้องนำรายได้ไปเป็นค่าซ่อมบำรุงและค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เดินรถให้ปีละ 380 ล้านบาท”

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเก็บค่าโดยสารที่ 14-42 บาทไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนไม่ต้องขอ PSO ได้ แม้รัฐบาลลงทุนเอง 100% เพราะลงทุนสูงเกิน 1 แสนล้านบาท

“จะทำให้ ร.ฟ.ท.อยู่ได้ รัฐต้องอุดหนุนค่าโดยสารอย่างน้อย 3-4 ปี ในอนาคตจะเปิด PPP เดินรถสายสีแดงก่อสร้างส่วนต่อขยายและเดินทั้งโครงการ ต้องกำหนดระยะเวลาสัญญา จูงใจเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน อาจจะ 50 ปีเหมือนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”