“สาระ ล่ำซำ” ชงรัฐรื้อประกันบำนาญรับสังคมสูงวัย เน้นเกษียณมีเงินใช้เพียงพอ

สมาคมประกันชีวิตไทย นัดถก คปภ. รื้อแบบประกันบำนาญใหม่รับสังคมสูงวัย “สาระ ล่ำซำ” นายกสมาคมฯ ชง 7 เงื่อนไขสำคัญควรแก้ไข ชี้เป้าใหญ่ “หลังเกษียณคนไทยต้องมีเงินดำรงชีพเพียงพอ” คาดควรตัดฟีเจอร์ทุนประกันชีวิต เน้นออมเพื่ออายุยืนยาว พร้อมเร่งสรุปเกณฑ์ภาษี-ตั้งสำรอง

สาระ ล่ำซำ
สาระ ล่ำซำ

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (mtl) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำลังจะหารือถึงความคืบหน้าการพัฒนาแบบประกันบำนาญใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตคนไทยในสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยเป้าหมายหลักคือต้องเป็นแบบประกันบำนาญที่เกษียณอายุแล้ว ผู้เอาประกันต้องดำรงชีพได้จริง

ซึ่งรูปแบบเบื้องต้นควรจะตัดฟีเจอร์ความคุ้มครองชีวิต (ทุนประกัน) ออกไป เพราะอย่าลืมว่าแบบประกันบำนาญไม่ใช่แบบประกันเพื่อคุ้มครองกรณีเสียชีวิต แต่เป็นการออมเพื่ออายุยืนยาว ซึ่งปัจจุบันเงินบำนาญที่ผู้เอาประกันได้รับช่วงเกษียณออกมาน้อย กลายเป็นไม่มีเงินเพียงพอดำรงชีพ

“ตอนนี้เราจะทำอย่างไรให้คนไทยมีเงินบำนาญที่แท้จริงหลังเกษียณ ซึ่งอาจจะไม่ใช่รูปแบบ one for all แต่รูปแบบประกันบำนาญที่ถูกต้องนั้น ควรจะเป็นแบบลักษณะเมื่อถึงเกษียณบั้นปลายชีวิต จะต้องมีเงินไว้ใช้ดำรงชีพสัก 50-70% ของเงินเดือนสุดท้าย เพื่อให้ดำรงชีพต่อไปได้ยืนยาวหลังจากไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งถ้าเรามีการเตรียมการที่ดี ก็จะทำให้ผู้สูงอายุในวันข้างหน้าสามารถดำรงชีพอยู่ได้” นายสาระกล่าว

ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น จากปัจจุบันการออกแบบประกันบำนาญมาขายลูกค้าทำได้ยากมาก เพราะเส้นอัตราผลตอบแทน(Yield Curve) ตกลง รูปแบบหรือฟีเจอร์ในอดีตที่ คปภ.กำหนดไว้อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นขณะนี้ได้ให้ทางอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคม รับเรื่องไปและนำเสนอเงื่อนไข 7 ประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไข ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างที่ คปภ.กำลังพิจารณา

“จากที่ได้พูดคุยกับผู้บริหาร คปภ.ก็เข้าใจและเห็นภาพคล้ายกัน แต่ตอนนี้มีหลายเรื่องที่ต้องดูให้ครบ ทั้งภาษีและเกณฑ์การตั้งสำรอง ซึ่งปัจจุบันแบบประกันบำนาญถือว่าตั้งสำรองสูงมาก” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว

นายสาระกล่าวต่อว่า วันนี้ผลิตภัณฑ์บำนาญถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ปัจจุบันสัดส่วนประชากรไทย 18-20% เป็นคนอายุ 60 ปีขึ้นไปและอีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% อย่างที่ทราบกันดีว่าคนไทยอายุยืนขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจมีตารางมรณกรรมที่เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลย่อมรู้ดี เราจึงมีโอกาส แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้มีแบบประกันไปตอบโจทย์คนสูงอายุเหล่านี้ได้แท้จริง

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของสมาคมไปพูดคุยกับ คปภ.ว่าจะพัฒนาให้มีผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญที่ตอบโจทย์แท้จริง โดยประเทศไทยเหมือนหลายประเทศ ผู้สูงวัยที่เติบโตมักจะมีปัญหาของเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ และไม่ล้อไปกับการมีอายุยืนยาว ซึ่งการที่มีผู้สูงวัยมีอายุยืน แต่ไม่มีเงินที่จะดำรงชีพได้นั้นเป็นปัญหาสำคัญ

นายกสมาคมกล่าวว่า สำหรับภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตรับรวมช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 64) ของทั้งอุตสาหกรรมยังเติบโตอยู่ ประมาณ 3% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ทำได้ดี ทั้งที่เริ่มมาต้นปี สมาคมฯตั้งเป้าหมายตัวเลขเบี้ยรวมปีนี้จะเติบโตบวก 1% ถึงลบ 1% เนื่องจากปัจจัยท้าทายของการระบาดโควิด โดยเฉพาะการระบาดโควิดระลอก 3 นี้ยังมีความรุนแรง ผู้ติดเชื้อโควิดสะสมกว่า 2 แสนคน และมีผู้เสียชีวิตนับพันราย

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เริ่มเห็นแนวโน้มของการเติบโตชะลอตัวลง แม้ว่า 4 เดือนแรกจะมีเบี้ยประกันรับรายใหม่เติบโต 10% หลัก ๆ มาจากเบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยมเติบโตกว่า 42% ในขณะที่เบี้ยที่ไม่ใช่เบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยมติดลบไปกว่า 6%

ทั้งนี้ เบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยมเติบโตได้จากยอดขายประกันสินเชื่อคุ้มครองสินเชื่อหรือเครดิตไลฟ์ เติบโตกว่า 10% ซึ่งล้อไปตามสินเชื่อภาคธนาคารและสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันเบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยมจากสินค้าประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ที่เติบโตกว่า 103% ซึ่งยอดขายส่วนมากขายผ่านช่องทางธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) โดยที่ขายจะให้น้ำหนักลงทุนเป็นตัวนำ

ขณะที่เบี้ยประกันสุขภาพ เติบโตเหลืออยู่ประมาณ 6% แม้ที่เคยเติบโต 9% ก็เพราะด้วยเบี้ยประกันรับรายใหม่ที่โตขึ้นมานั้นเติบโตมาจากซิงเกิลพรีเมี่ยมยูนิตลิงก์ที่ให้น้ำหนักลงทุนเป็นหลัก