“อาคม” ชี้ โควิดรายได้ท่องเที่ยวหาย 2 ล้านล้าน หวังภูเก็ตแซนด์บอกซ์พยุง

ท่องเที่ยว
Photo by Mladen ANTONOV / AFP

รมว.คลัง เผยโควิดทำรายได้ท่องเที่ยวหาย 2 ล้านล้านบาท หวังภูเก็ตแซนด์บอกซ์พยุง กระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัด มั่นใจปีนี้จีดีพีโต 1% ส่วนปี’65 ขยายตัวได้ 4% มีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 3.7 ล้านล้านบาท

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางฟื้นเศรษฐกิจปี 2022” ว่า ภายใต้ปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการทำภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จนนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจคู่ขนานการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในภาคประชาชน ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปี’64 จะขยายตัวที่ 1% และขยายตัวได้ 4% ในปี’65

“ภาคท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ จากนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้ไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท แม้จะหายไปหมด แต่ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการเปิดให้คนไทยเดินทางข้ามจังหวัดได้ ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไปด้วย” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี’65 คือ 1.ภาคการส่งออก ที่เชื่อว่าไทยยังมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี หรือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าไทยอยู่ในซัพพลายเซนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก 2.เม็ดเงินของภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.7 ล้านล้านบาท ได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้าน งบฯจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะกู้ในปี’65 ประมาณ 3 แสนล้านบาท และงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินของรัฐบาลประมาณ 20% จะเป็นการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล

3.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าใน กทม. รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง พลังงานทดแทน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งในปี’65 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี นอกจากนี้โครงการที่รอการอนุมัติ จะเริ่มก่อสร้างมากขึ้นในปี’65

ทั้งนี้ นายอาคม กล่าวว่า ภาคเศรษฐกิจจริง มี 4 ภาค คือ 1.ภาคส่งออกที่ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ โดยได้อานิสงค์จากค่าบาท ซึ่งในปี 65 ยังเอื้ออำนวยกับการส่งออกของไทย 2.ภาคการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะใน EEC มี 3 ส่วนที่อยากเห็น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ขณะนี้ได้ผู้ชนะการประมูลครบแล้ว ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งนี้ การก่อสร้างรันเวย์ในสนามบินอู่ตะเภา จะใช้เงินกู้ จากเดิมที่จะใช้เงินงบประมาณ ซึ่งจะทำให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีแหล่งเงินที่มีความต่อเนื่อง ทำให้มีหลักประกันในการให้เงินทุนตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง

การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ สะท้อนจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่มากขึ้นต่อเนื่อง และ EEC ดิจิทัล และ EEC อินโนเวชั่น ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งที่กล่าวมานี้คือเครื่องยนต์ที่จะเป็น New Growth หรือการเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจไทย

3.ภาคเศรษฐกิจจริงของภาคการเงิน วันนี้มีการปรับตัวแล้ว โดยเฉพาะการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มี ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแล โดยเชื่อว่าในปี’65 จะมีผู้เล่นรายใหม่และรายใหญ่เข้ามามากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีผู้เข้ามาดูแลหรือเข้ามากำกับ เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปตามกติกา เป็นธรรม และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

และ 4.ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ SMEs และสตาร์ตอัพ โดยในปี’65 จะมีการปรับตัวมากขึ้น จากการส่งเสริมของภาครัฐ และการตื่นตัวในการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานในภาคบริการที่อาจเปลี่ยนสายอาชีพใหม่ หรือเป็น SMEs เดิมและมีการพัฒนาธุรกิจ พร้อมย้ำสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs และสตาร์ตอัพ อย่างเข้มข้นมากขึ้น

“เศรษฐกิจทันสมัยที่ต้องเชื่อมโยงกับ SMEs มากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ปี’65 เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะแต่ในพื้นที่ EEC แต่ต้องกระจายออกไปสู่ภูมิภาค หรือเศรษฐกิจต่างจังหวัด โดยในปี’65 ยอมรับว่าการท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยทำงานในภาคท่องเที่ยวอาจต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลและทำให้เกิดการกระจายของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง” นายอาคมกล่าว