เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า

เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด
REUTERS/Andrew Kelly

ธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น พร้อมระบุว่าจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมีนาคม 2565

โดยเฟดให้เหตุผลว่าอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในรอบเกือบ 40 ปี พร้อมคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด กล่าวว่า นายจ้างกำลังประสบปัญหาในการจ้างงาน และค่าแรงก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อันเป็นผลจากไวรัสโคโรนา

“อัตราเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อที่เราต้องการ” พาวเวลล์กล่าว

“อย่างไรก็ตาม พาวเวลล์กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในแง่ดีว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นประมาณสองในสามของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคยังคงแข็งแรง” เขากล่าว

เฟดคาดการว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 4% ในปี 2565 และอัตราการว่างงานจะลดลงเหลือ 3.5% ภายในสิ้นปี

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์คาดว่าเฟดคงเผชิญแรงกดดันให้ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัวเร็วกว่าขึ้นกว่าเดิม โดยเฟดอาจพิจารณาปรับแผนลดวงเงิน QE ในอัตราที่เร่งขึ้นเพื่อให้วงเงิน QE ทั้งหมดสิ้นสุดลงเร็วกว่าเดือนมิถุนายน 2566 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า อีกทั้งเฟดอาจเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าเฟดคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่อาจมีเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มที่จะชะลอลง ประกอบกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐที่กลับมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากประเด็นไต้หวัน

ดังนั้น เฟดคงต้องประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ในการพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ควรนอกจากจะสร้างความผันผวนมากขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังอาจยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หมดไป อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขีดจำกัดในฝั่งอุปทาน