วัคซีนเข็ม 4 ประชาชนทั่วไป อดใจรอก่อน กรมควบคุมโรคขอเวลาพิจารณา

นายแพทย์โอภาส
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

อธิบดีกรมควบคุมโรคแจงประชาชนทั่วไปให้อดใจรอประกาศ สธ. เรื่องรับวัคซีนเข็ม 4 ย้ำหลักการ ยิ่งฉีดห่าง ภูมิคุ้มกันยิ่งขึ้นดี ยอมรับหากระหว่างทางอาจติดเชื้อได้จึงต้องบาลานซ์เวลาให้เหมาะสม

วันที่ 19 มกราคม 2565 มติชนรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 สำหรับประชาชนทั่วไป ว่า คาดว่าจะมีแนวทางออกมาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก

ขณะนี้ยังยืนยันแนวทางการฉีดเข็มที่ 4 ให้กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข คนทำงานด่านหน้า และกลุ่มเสี่ยง 608 ที่รับเข็มที่ 3 ครบ 3 เดือนแล้ว ให้ติดต่อรับเข็มที่ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิฯ ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้รอการประกาศจาก สธ. อีกครั้ง

“ขอดูข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากบางความเห็นก็บอกว่า ไม่ต้องฉีด แต่ความเห็นทั่วไปคือ ควรจะฉีดกระตุ้น แต่ที่สำคัญคือ ระยะเวลา ตามที่เคยให้หลักการว่า ยิ่งฉีดห่าง ภูมิคุ้มกันจะยิ่งขึ้นดี แต่เราก็กังวลว่า ระหว่างนั้นก็อาจติดเชื้อได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ฉีด แต่ต้องบาลานซ์เวลาให้เหมาะสม” นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนกรณีผู้ตรวจ ATK แล้วพบว่าเป็นบวก แต่ไม่ยอมแจ้งเข้าระบบ นพ.โอภาส กล่าวว่า การตรวจคัดกรองด้วย ATK ก็มีโอกาสที่ได้ผลตรวจเป็นบวก แต่อาจจะไม่ติดเชื้อก็มี หรือเรียกว่า ผลบวกลวง

“จึงต้องแนะนำว่า หากตรวจ ATK ได้ผลบวกแล้ว ให้ไปตรวจซ้ำหรือพบแพทย์เพิ่มเติม เพราะไม่รู้ว่าจะบวกจริง หรือบวกลวง หรืออย่างน้อยให้ติดต่อที่สายด่วน 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดูแลตามระบบ หากอยู่บ้านกักตัวเองได้ ไม่แพร่เชื้อให้ใครก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากออกไปใช้ชีวิตปกติ แล้วทราบภายหลังว่าไปแพร่เชื้อให้บุคคลอื่น เมื่อสอบสวนไปแล้วพบว่า เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรค หรือเป็นต้นเหตุ ก็ต้องดำเนินการไปแต่ละกรณี

เรื่องนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป แต่ยืนยันว่าการคัดกรองตัวเองด้วย ATK นั้น เป็นสิ่งที่ดี และควรทำ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และคนรอบข้าง” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วติดเชื้อซ้ำอีก นพ.โอภาสกล่าวว่า พบว่ามีรายงานผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้าโอมิครอน ก็สามารถติดเชื้อโอมิครอนได้ แต่ส่วนใหญ่อาการจะน้อยลง จึงย้ำว่า แม้จะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ถึงแม้โอกาสติดจะน้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยรับวัคซีน หรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน แต่ก็ยังมีโอกาสติดได้

หากเราไปใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากากอนามัยเช่นเดิม

เมื่อถามถึงผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจหาว่าติดสายพันธุ์ใด เนื่องจากส่วนนี้ไม่มีผลต่อการรักษา และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ส่วนกรณีโอกาสติดเชื้อซ้ำนั้น เกิดขึ้นได้ในสายพันธุ์อื่น ๆ

ส่วนสายพันธุ์เดิมที่เคยติดมีโอกาสน้อยมากที่จะติดซ้ำในเวลาอันสั้น เทียบเป็น 1 ในล้าน สาเหตุที่ไม่ติดซ้ำในสายเดิม เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานต่อไวรัสสายพันธุ์นั้นแล้ว ซึ่งภูมิฯจะอยู่ไปในระยะเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด