
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เดินทางเยือนสหรัฐ 12-13 พ.ค. ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ หยิบประเด็นการฟื้นฟูหลังโควิด พบภาคเอกชนสหรัฐ โชว์ศักยภาพเจ้าภาพประชุมเอเปค 2022
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ตามคำเชิญของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2
- ไทยตกขบวน ทุนต่างชาติไหลเข้าเวียดนาม 2 พันโปรเจ็กต์
- เบียร์ใหม่
- วันพระ 2566 : เปิดปฏิทินวันพระ ตรงกับวันไหนบ้าง
การประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งที่ 2 นี้ สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเสนอจัดขึ้น โดยเสนอทาบทามมาตั้งแต่ปลายปี 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
ในการเดินทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีกำหนดการสำคัญนอกเหนือจากกำหนดการในกรอบการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ
โดยจะเป็นโอกาสให้ได้พบหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ทั้งประธานาธิบดีและผู้แทนระดับสูงอื่นๆ เพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค
รวมทั้ง เป็นโอกาสให้พบกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อย้ำความพร้อมของไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
พร้อมย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับสหรัฐฯ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า
ตลอดจนเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ของไทย นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสามารถต่อเนื่องสู่การเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ ในปี 2023
ขณะที่เวบไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
การประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ และถือเป็นโอกาสให้ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต
อาทิ การรับมือและฟื้นตัวจากโควิด-19 ความมั่นคง ด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือทางทะเล ห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์
รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเน้นย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการส่งเสริมบรรยากาศที่ดีและสร้างสรรค์ในภูมิภาคเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งยังยืนในภาพรวม
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 และยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อปี 2558 โดยทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือที่ครอบคลุม 3 เสาของประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งช่วยสนับสนุนการบูรณาการและการพัฒนาในภูมิภาคให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป