ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต สิทธิที่คนรักเพศเดียวกันต้องรู้ ทำไมต้องสมรสเท่าเทียม

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เปิดเนื้อหาสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เครือข่าย LGBTQ+ มองว่ายังไม่ลดความเหลื่อมล้ำ เดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ต่อ

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยังไม่ได้ลงมติรับหลักการ เนื่องจาก ครม. ขอนำร่างกฎหมายไปศึกษาก่อน 60 วัน จึงต้องต่อแถวรอพิจารณาลงมติรับหลักการ ในวันนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเนื้อหาและสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต สำหรับคู่รักเพศเดียวกันที่ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ

สิทธิคู่รักเพศเดียวกันในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ประกอบด้วยสิทธิและหน้าที่ ดังนี้

  • หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
  • อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
  • สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
  • สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
  • สิทธิจัดการศพ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 

คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น

กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ

กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน

คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)

ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน

การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี

บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้

เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก

กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยคู่สมรสครอบครัวและบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี

ประชาชนเข้าร่วมขบวนพาเหรด LGBTQ Pride ในกรุงเทพฯ
FILE PHOTO : REUTERS/Soe Zeya Tun

13 เหตุผล ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่พอ

จากเพจเฟซบุ๊ก สมรสเท่าเทียม Marriage Equality เปิด 13 เหตุผลที่ยังคงผลักดันให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต่อไป แม้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะผ่าน ครม. แล้วก็ตาม

1.เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 บัญญัติให้สิทธิการสมรสเฉพาะเพศชายกับเพศหญิง ทำให้คู่รักหลากเพศ เช่น หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม บุคคลนอนไบนารี ฯลฯ (LGBTIQN+) ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่พึงมีต่อกัน และพึงได้รับจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

2.การเป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses)” เป็นคำที่เป็นสากลและสามารถกล่าวอ้างได้ทั่วโลก ในขณะที่การเป็นคู่ชีวิต (Civil Partnerships) ไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศทุกประเทศ

3.หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในรูปแบบของ ป.พ.พ. คู่สมรส LGBTIQN+ ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีตามที่เคยได้รับในประเทศต้นทางที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสเช่นเดียวกัน

4.การขยายการสมรสตาม ป.พ.พ. ไปยังคู่ LGBTIQN+ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTIQN+ ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ เช่น สิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยี สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนั้นเด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTIQN+ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่ LGBTIQN+ ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก

5.การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในฐานะ “คู่ชีวิต (Civil Partnerships)” ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใด ๆ มาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสิทธิใด ๆ ในฐานะ “คู่ชีวิต” ตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ

6.การแก้ ป.พ.พ. 1448 หรือสมรสเท่าเทียม จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กในครอบครัวเพศหลากหลาย ให้ได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับคู่ผู้ปกครองต่างเพศ เช่น เมื่อบุตรเกิดมาจากผู้ปกครองเพศเดียวกัน ไม่ต้องรอผ่านขั้นตอนการรับอุปการะเลี้ยงดูที่อาจใช้เวลานาน แต่ได้รับการรับรองเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ต่างจาก พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ไม่รับรองการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกทั้งลดการเลือกปฏิบัติต่อเด็กจากครอบครัวเพศหลากหลาย หรือเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ หากการสมรสครอบคลุมทุกเพศ

7.การออก พ.ร.บ.คู่ชีวิตแยกออกจาก ป.พ.พ. ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลพินิจในการจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการหรือสถานที่สำหรับจดทะเบียนคู่ชีวิตมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ. อาจถือเป็นเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และ คุณลักษณะทางเพศ (SOGIESC)

8.การจัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แทนที่จะไปปรับแก้ ป.พ.พ. เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้เท่าเทียม ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อศักดิ์ศรีของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวของคู่ LGBTIQN+ ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของคู่รักต่างเพศอย่างไร

9.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผ่านมามีความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจสอบว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเคยจดทะเบียนแบบใดมาก่อน เคยจดทะเบียนซ้อนหรือไม่ หรือสิทธิหน้าที่ใดตาม ป.พ.พ. จะสามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้ให้กับคู่ชีวิตมากน้อยหรือไม่เพียงใด

10.ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม เป็นการผลักภาระหน้าที่ใช้ผู้ใช้กฎหมาย ต้องพึ่งพิงการตีความของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และ หากมีข้อโต้แย้งต้องนำไปสู่การพิจารณาโดยศาล

11.หาก ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ประกาศใช้เป็นกฎหมาย อาจทำให้เกิดข้ออ้างว่า มีกฎหมายแล้วจะเรียกร้องอะไรอีก ได้คืบจะเอาศอก ทำให้การผลักดัน ร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ในอนาคตทำได้ด้วยความยากลำบาก

12.ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ให้ศักดิ์ศรี และ สิทธิต่างกับ คู่สมรสชายหญิงทั่วไป ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พันธกรณี และหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ (SOGIESC)

13.การที่รัฐยืนยันที่จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นการเพิกเฉยต่อการเรียกร้องพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่สนับสนุน ร่างแก้ไข #สมรสเท่าเทียม ผ่านเว็บไซต์ www.support1448.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายกว่า 330,000 รายชื่อ ณ ปัจจุบัน