ขึ้นค่าเอฟทีฝุ่นตลบ กกพ.เลื่อนเคาะงวด 3 ใหม่

คมกฤช ตันตระวาณิชย์
คมกฤช ตันตระวาณิชย์

ฝุ่นตลบ กกพ.เลื่อนประกาศ ‘ค่าเอฟทีงวด 3 ‘ จากเดิม 1 ส.ค. นี้ ฟาก เอกชน ผวาเรตใหม่แพงขึ้น 1.16 บาท ดันค่าไฟพุ่ง 4.95 บาท ด้านกฟผ. เตรียม 5 มาตรการรับมือแหล่งก๊าซฯ JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซฯ 14 วัน ยืนยันไม่กระทบการใช้ไฟฟ้าภาคใต้     

วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เดิมที่จะประกาศวันที่ 1 ส.ค. 2565 ต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยจะมีการประกาศค่าเอฟทีอัตราใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ด้านแหล่งข่าวภาคเอกชนจากวงการพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า หลังจากมีกระแสข่าวการพิจารณาข้อสรุปค่าเอฟทีในอัตรา 68.66 สตางค์ต่อหน่วย มีความเป็นไปได้ที่อาจจะการเคลื่อนไหวเพื่อให้ปรับเปลี่ยนเรต

โดยเบื้องต้นเอกชนคาดการณ์กันว่าจะมีการกลับไปใช้ทางเลือก ที่ 2 จากทั้งหมด 3 ทางเลือก คือ ปรับขึ้นค่าเอฟที 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทางเลือกนี้จะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น 4.92 บาท หรือปรับขึ้น 23% และทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคือให้กฟผ. 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ภายใน 1 ปี และทาง กฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 69,796  ล้านบาท จากเดิมที่ต้องแบกรับ 83,010 บาท

ตารางค่า-ft

อนึงสมมุติฐานที่ กกพ.เปิกรับฟังความเห็น ไปเมื่อ 25 ก.ค.2565 ประกอบด้วย

1) ปรับค่าไฟ 5.17 บาทหรือปรับขึ้น 28% จากปัจจุบัน โดยคำนวณค่าเอฟทีงวด 3 เท่ากับ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคือให้กฟผ. 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ภายใน 1 ปี และกฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 56,581 ล้านบาท

2) ค่าไฟ 4.92 บาท หรือปรับขึ้น 23% จากการปรับค่าเอฟทีงวด 3 เรียกเก็บ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคือให้กฟผ. 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ภายใน 1ปี กฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 69,796  ล้านบาท และ 3) ค่าไฟ 4.72 บาท หรือปรับขึ้น 17% จากปัจจุบัน ซึ่งวิธีการนี้ กฟผ.จะบริหารจัดการแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท

ขณะที่นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมความพร้อม กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA-A18 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีกำหนดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 รวม 14 วัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งจ่ายก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามปกติ

ทางกฟผ.จึงให้โรงไฟฟ้าจะนะเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ มาใช้น้ำมันดีเซลทดแทน และเตรียมพร้อมมาตรการ 5 ด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม ประกอบด้วย

1)ด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองปริมาณน้ำมันดีเซลไว้สำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซฯ รวมทั้งมีแผนรองรับหากการทำงานล่าช้ากว่ากำหนด

2)ด้านระบบผลิต เตรียมการให้โรงไฟฟ้าจะนะเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล พร้อมประสานโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ และโรงไฟฟ้า SPP ให้เตรียมเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,914 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่คาดการณ์ในช่วงเวลาการหยุดจ่ายก๊าซฯ ไว้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ และในกรณีฉุกเฉินสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียได้ทันที

3)ด้านระบบส่ง มีการส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงจากภาคกลางมายังภาคใต้อีก 800-1,100 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ (kV) บางสะพาน2-สุราษฎร์ธานี2-ภูเก็ต3 อีกทั้งตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งาน รวมถึงงดการทำงานบำรุงรักษาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

4)ด้านบุคลากร ได้จัดเตรียมทีมงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าแก้ไขสถานการณ์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

5)ด้านผู้ใช้ไฟฟ้า กฟผ. ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

“กฟผ. ได้จัดเตรียมมาตรการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA-A18 อย่างเต็มที่ พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้ทันที ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้จะมีความมั่นคงและเพียงพอ ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน” นายกิตติกล่าว