สามก๊กมือถือ

มือถือ
PHOTO : PIXABAY
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

หลายฝ่ายกำลังจับตาดีลควบรวมกิจการระหว่าง “ทรูและดีแทค” พ่วงด้วยดีล “เอไอเอส กับ 3BB” ตาไม่กะพริบ และอยากรู้ว่า “กสทช.” จะตัดสินใจทั้งสองกรณีนี้อย่างไร

แม้ทั้งทรูและดีแทคจะมองว่าเป็นการแจ้งให้รับทราบตามข้อกำหนดใน กม. ไม่ใช่การขออนุญาต หาก กสทช.เกรงว่าจะมีผลกระทบกับผู้บริโภค ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขให้ทั้งคู่ปฏิบัติตามได้ แต่ไม่ใช่การระงับยับยั้งดีล

ก็ว่ากันไป

ในฟากตัวแทนภาคประชาชน (และเอไอเอส) มีความกังวลว่า ถ้าปล่อยให้มีการควบรวมกันได้จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดและลดการแข่งขัน เมื่อผู้เล่นลดจาก 3

เหลือเพียง 2 ทางเลือกของผู้บริโภคก็จะน้อยลงตามไปด้วย และอาจเสียประโยชน์จากค่าบริการที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ดีแทคและทรูแย้งว่า เรื่อง “ราคา” อยู่ในการกำกับดูแลของ “กสทช.” อยู่แล้ว จึงไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล

หากแต่ถ้าไม่ให้ดีลนี้เกิดขึ้นต่างหากที่น่ากังวล

แม่ทัพ ซี.พี. และเทเลนอร์กรุ๊ป ถึงกับยอมรับว่าสถานะทางการเงินอันเกี่ยวเนื่องกับขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งคู่ต่างตกอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า “อ่อนแอ” กว่าคู่แข่งอีกราย

โดยบอกว่า “การควบรวมทำให้ 3 บริษัทเหลือ 2 บริษัทก็จริง แต่จะเป็น 2 บริษัทที่แข็งแรง พร้อมที่จะแข่งขันนำเสนอบริการเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ย่อมดีกว่าการมี 2 บริษัทที่อ่อนแอ กับอีกหนึ่งบริษัทที่แข็งแรง”

“กสทช.” ในฐานะองค์กรกำกับดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นตามมาไปได้

ไม่ว่าดีลนี้จะมีข้อสรุปอย่างไร ย่อมมีผลกระทบในทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทางอย่างแน่นอน

บริการมือถือเริ่มเปิดให้บริการในบ้านเราเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในช่วงสิบปีแรก ยังมีแค่ 2 รายหลัก คือเอไอเอสและแทค (ปัจจุบันคือดีแทค) เรียกว่าเป็นยุค 1G ก็น่าจะได้ ผู้ใช้บริการก็ยังมีไม่มาก เพราะเครื่องยังมีราคาสูงมาก แม้ไม่ถึงหลักแสน แต่ก็ยังแพงระดับหลายหมื่นบาท

เช่นกันกับค่าบริการที่ยังคิดเป็นรายนาทีตามพื้นที่ ตั้งแต่นาทีละ 3 บาท 8 บาท และ 12 บาท

แต่ถึงจะอย่างนั้น การแข่งขันระหว่าง “เอไอเอสและแทค” ก็ดุเดือดมาก ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน

เจ้าหนึ่งมีโปรโมชั่นอะไรออกมา หรือแม้แต่จัดแถลงข่าว อีกเจ้าจะตอบโต้กลับในทันที ไม่มีใครยอมใคร ตั้งแต่การคิดสารพัดโปรโมชั่น การแย่งชิงพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการช่วงชิงช่องทางการจัดจำหน่าย

ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทมักงัดข้อมูลทั้งในแง่มุมการตลาดและด้านเทคโนโลยีมาเกทับบลัฟแหลกกันตลอดเวลา

ถึงอย่างนั้น ราคาเครื่องก็ลดลงอย่างช้า ๆ เช่นกันกับอัตราค่าบริการ กระทั่งดีแทคตัดสินใจปลดล็อกอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่อง ซึ่งเท่ากับเปิดเสรีการนำเครื่องโดยอัตโนมัติ

เมื่อเครื่องไม่ได้ผูกติดอยู่กับแค่ผู้ให้บริการอีกต่อไป “ราคา” เครื่องก็ถูกลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีทางเลือกมากขึ้น

ในแง่ค่าโทร. เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีคู่แข่งหน้าใหม่รายที่สามเข้าสู่ตลาด ซึ่งก็คือ “ออเร้นจ์” โดยทีเอ ออเร้นจ์ (บริษัทร่วมทุนระหว่างทีเอ-ชื่อเดิมของทรู กับออเร้นจ์ จากอังกฤษ)

จำได้ว่าเริ่มเห็นค่าโทร.นาทีละ 25 สตางค์ ก็ในช่วงนั้น

ใน 20 ปีหลัง ตลาดมีผู้เล่นหลัก 3 รายที่ต่างขับเคี่ยวแข่งขันกันแบบไม่มีใครยอมใครเช่นเดิม

ปัจจุบันตลาดมือถืออยู่ในสภาวะอิ่มตัว หากเทียบจำนวนเลขหมายกับประชากรในประเทศทะลุ 100% มาหลายปีแล้ว

ในแง่ผลประกอบการ “เอไอเอส” และ “ดีแทค” ยังสามารถทำกำไรได้ดี โดย เอไอเอส ณ ไตรมาส 2/2565 มีกำไรกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่ดีแทคมีกำไรพันกว่าล้าน

ต่างจาก “ทรู” ที่จะว่าไปแทบไม่เคยสัมผัสคำว่า “กำไร”

ถ้า “ดีแทคและทรู” ควบรวมกันได้สำเร็จ แน่นอนว่าทั้งคู่จะเข้มแข็งขึ้นมากอย่างแน่นอน

แต่ “ผู้บริโภค” จะได้หรือเสียมากกว่ากัน “กสทช.” ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และทำหน้าที่ในฐานะผู้กำกับการประกอบกิจการภายใต้ใบอนุญาตให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน