บุฟเฟต์น้ำท่วมกรุง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

11 ปีผ่านไป ผีน้ำท่วมมหาอุทกภัยปี 2554 ในอดีตยังตามมาหลอนปัจจุบัน

ปี 2565 มีน้ำท่วมจริงในมหานครกรุงเทพ ถึงแม้จะจำกัดวงอยู่ในเขตรอบนอก หรืออีกนัยหนึ่ง น้องน้ำปีเสือยังไม่ได้โจมตีพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในเขตตัวเมืองชั้นใน

แต่ก็ประมาทไม่ได้เด็ดขาด เพราะอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ในทางไสยศาสตร์มีหมอดูต่างสำนักออกมาทำนายภัยพิบัติจากน้ำกันอย่างคึกคักครื้นเครงบนยูทูบ

เขียนจากความทรงจำ ปี 2554 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ

เขียนจากความทรงจำ ปี 2557 รัฐประหาร คสช.

Advertisment

หนึ่งในมรดกที่สังคมไทยได้รับจาก คสช. คือโปรเจ็กต์น้ำ โดยเฉพาะโปรเจ็กต์เจ้าพระยา 2 ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ รับผิดชอบโดย “สทนช.-สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”

โปรเจ็กต์น้ำมีแผนแม่บท 9 แผนหลัก ในการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย 1.โครงการขุดคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 2.คลองระบายน้ำหลักชัยนาท-ป่าสัก 3.คลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย

4.คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 5.ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 6.ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

7.บริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง

Advertisment

ขยับใกล้กรุงเทพฯ ขึ้นมาอีกนิด แผนแม่บทแห่งชาติที่ สทนช.อัพเดตกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ คือโครงการที่ 5 ปรับปรุงระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก

เป้าหมายเนื้องานจะปรับปรุงระบบชลประทานและคลองธรรมชาติตามแนวคลองเดิม ให้เพิ่มขีดความสามารถระบายน้ำจาก 210 ลบ.ม./วินาที เพิ่มเป็น 400 ลบ.ม./วินาที

รายละเอียดรัว ๆ ประกอบด้วย งานปรับปรุงคลองชลประทาน 23 สาย ระยะทาง 490 กม. งานปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 19 แห่ง และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำอีก 24 แห่ง

ครอบคลุม 7 จังหวัด เริ่มจากพระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี มหานครกรุงเทพ ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการบางส่วน

ไม่จำเป็นต้องย้ำ ในภาคปฏิบัติพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน (ชป.) ซึ่งข้อมูลนี้อาจคลายข้อสงสัย ทำไมน้ำท่วมโซนกรุงเทพฯตะวันออกในบางพื้นที่ เพราะเขตอำนาจของ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” จำกัดอยู่ในกรุงเทพฯ

แหย่ขาออกมานอกเขตกรุงเทพฯ ก็คือเขตอำนาจของกรมชลประทาน เป็นต้น

นั่งมองจากวงนอก ภาวะจำยอมของปัญหาน้ำท่วมเมืองกรุงมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเยอะแยะไปหมด

ยกตัวอย่างเรื่องหลัก ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 (เริ่มวางแผนเมืองแบบตะวันตก) ที่ราบลุ่มต่ำกินบริเวณกว้างตั้งแต่ปทุมธานี สมุทรปราการ รวมกรุงเทพฯ บางส่วน ผังเมืองซึ่งเกิดทีหลังจึงกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม สินค้าที่ต้องใช้น้ำไปซะเลย รวมทั้งทำเป็นโซนฟลัดเวย์ (พื้นที่น้ำหลาก) ก่อนระบายไหลลงอ่าวไทย

หนึ่งในไข่แดงโซนฟลัดเวย์คือสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ พื้นที่กลม ๆ 2 หมื่นไร่ ขวางฟลัดเวย์เต็ม ๆ กลายเป็นภาคบังคับทำให้ผังเมืองรุ่นหลัง ๆ ต้องปรับปรุงลดพื้นที่ฟลัดเวย์ลงโดยอัตโนมัติ

ในทางทฤษฎี ลดพื้นที่ฟลัดเวย์บนผังเมือง กทม. แต่ในชีวิตจริง น้องน้ำ 3 น้ำ “น้ำเหนือ-น้ำหนุน-น้ำฝน” ยังคงโจมตีเมืองกรุงทุกหน้าฝน และโจมตีหนักข้อขึ้นทุกวัน

กำลังเป็นการบ้านข้อใหม่ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 ที่จะได้เข้ามาดูและวางแผนนโยบายเส้นเลือดฝอยในการใช้คลองหลักคลองย่อยให้มีประสิทธิภาพจ๊าบที่สุด

เรื่องใหม่น่าจะเป็นแนวคิดขยายคลอง 60 เมตร ระยะทาง 25 กม. กับขุดคลองใหม่เป็นทางลัดน้ำ กว้าง 36 เมตร ระยะทาง 9 กม.

ถึงแม้คอนเซ็ปต์คลอง 60 เมตร เมื่อเทียบกับโปรเจ็กต์เจ้าพระยา 2 ที่ขุดคลองกว้าง 200 เมตร ไซซ์อาจดูห่างไกลกันเป็น 2-3 เท่าตัว แต่ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจหากลงทุนแล้วคุ้มค่าและแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกรุงได้จริง