หนาวนี้..โควิดพุ่ง หมอไทยแนะสร้างภูมิสกัด

โควิด ไม่ต้องกักตัว ?
ภาพจาก pixabay
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

ช่วง 2 สัปดาห์มานี้หลายคนที่รู้จักกลับมาติดโควิดซ้ำสอดคล้องกับที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

โรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำฤดูกาล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าฤดูหนาว ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และจะอยู่ในจุดสูงสุดเดือนมกราคม และจะค่อย ๆ สงบลงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมจะพบน้อยที่สุด

ดังนั้น การสร้างเกราะป้องกันก่อนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญ

แม้ภาครัฐจะไม่บังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย แต่ทุกคนควรมีความรับผิดชอบ ! ไม่นำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น ! โดยเฉพาะการแพร่เชื้อสู่ญาติผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว อาจถึงแก่ชีวิตได้

ทุกคนจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งวันนี้ขอแนะนำศาสตร์ของแพทย์แผนไทยในการดูแลตัวเอง

ดังเช่นที่ “หมอเจี๊ยบ” แพทย์แผนไทย (พท.) ธิปตีย์ พึ่งอุตสาหะ อาจารย์แพทย์แผนไทย โรงเรียนภัทรเวชสยาม ได้เคยกล่าวแนะนำไว้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ายังระบาดหนัก เมื่อช่วงกลางปี 2564 ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติที่ทำง่าย ๆ ขอสรุปบางช่วงบางตอนที่สามารถนำไปใช้ในการดูแลตัวเองได้

หมอเจี๊ยบบอกว่า ทุกคนต้องเข้าใจธรรมชาติของไวรัสโควิด ชอบอยู่ในที่ชื้น และเย็น

ไวรัสโควิดมีพิษร้อน เมื่อไปเกาะที่ไหนจะคายพิษออกมาทำลายปอดและอวัยวะต่าง ๆ

ถ้าร่างกายชื้นและเย็น จะติดไวรัสได้ง่ายกว่าคนที่ร่างกายอบอุ่น

ทุกคนจึงต้องรักษาปอดให้อบอุ่น สร้างการไหลเวียนของเลือดให้ดี เสริมภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง อันนี้คือหลักสำคัญ

ถึงติดเชื้อแต่ไวรัสไม่สามารถอยู่ในสภาวะที่ไม่ชอบ เลือดจะขับพิษออกไปเองทางปัสสาวะ อุจจาระ ทางเหงื่อ นอกจากนี้ ต้องขับถ่ายทุกวันเป็นการระบายพิษไข้ ระบายเชื้อไวรัสออกไป เช่น กินผัก ผลไม้ให้ขับถ่ายทุกวัน

รวมถึงต้องทำการขับเหงื่อให้ออก โดยการหันหลังหาแสงแดดยามเช้า ประมาณ 5-10 นาที จะช่วยขับความชื้น ความเย็นในปอดออกไป หรือเรียกว่า “การฉายแสงขับเหงื่อรักษาโรค”

“ใช้แสงแดดเป็นยา ถ้าเริ่มรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีเสมหะในตอนเช้า ไม่ค่อยสบายมีน้ำมูก ให้ใช้แสงแดดมาช่วยไล่ความเย็นออก เพราะแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้ามีประโยชน์มาก”

อีกวิธีหนึ่ง คือ การต้มสมุนไพรบรรเทาอาการหวัด ประกอบด้วย ขิง ข่า ตะไคร้ หอมแดง ผิวมะกรูด ไพล ขมิ้นอ้อย เพื่อ “สูดเอาไอ” โดยต้มทุกสิ่งจนเดือดนำมาวางบนโต๊ะ นำผ้ามาคลุมหัว คลุมหม้อ และพัดไอน้ำเข้าหาตัว

วิธีนี้ช่วยสร้างความอบอุ่นบริเวณโพรงจมูก ทำให้หายใจโล่งขึ้น และสารสำคัญในสมุนไพรยังช่วยฆ่าเชื้อโรค

แต่คนเป็นโรคหอบหืดจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีฉายแสงแดดแทน หรือนำหอมแดงมาทุบและนำมาดม

บางคนมีอาการระคายคอกินกระเทียมไทยกลีบเล็ก ๆ 3-4 กลีบ มื้อเช้าและมื้อเย็น จะช่วยลดการติดเชื้อในปอดได้

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นเป็นคำแนะนำง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้ไม่เสียหลายแน่นอน