บทบรรณาธิการ : เตือนภัยไซเบอร์

cyber
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้นของหน่วยงานรัฐ ที่บูรณาการร่วมกันเพื่อการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ สะท้อนภาพว่าพฤติกรรมดังกล่าวในเมืองไทยรุนแรงมากขึ้น และสร้างความเสียหายในวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่การดูดเงินจากบัญชี หรือข้อมูลสำคัญของเหยื่อเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการต้มตุ๋นออนไลน์ ล่อลวงให้ลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผนึกกำลังกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานอื่น ๆ จัดทำระบบป้องกันมิจฉาชีพใช้ remote application ควบคุมการทำ mobile banking และสวมรอยโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

สำหรับ remote application เป็นแอปประเภท remote access ที่หากติดตั้งแล้วจะทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลและควบคุมโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ เพื่อทำธุรกรรมและโอนเงินออกจากบัญชีได้ โดยจะหลอกให้เหยื่อกรอกตัวเลข หรือรหัสผ่าน แล้วจึงนำรหัสเหล่านี้ไปใช้ทำธุรกรรมและโอนเงินออกจากบัญชี

ขณะที่ ธปท. ร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ และภาคการเงิน วางมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักรู้ และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน อีกทั้งยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย แลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริต และบัญชีม้า เพื่อลดจำนวนบัญชีม้า และลดความเสียหายจากการถูกทำทุจริตด้วย

ที่น่าตกใจไม่พ้นข้อมูลการรับแจ้งความออนไลน์ www.ThaiPoliceOnline.com ตั้งแต่วันที่ระบบเริ่มใช้งาน 1 มี.ค. 2565 ถึง 31 ธ.ค. 2565 รวม 10 เดือน มีผู้เข้ามาแจ้งความ 163,091 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 27,305 ล้านบาท

แบ่งเป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ในประเทศไทย อาทิ การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์แต่ไม่รับสินค้า การปล่อยกู้ผ่านแอป การลงทุนแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น ความเสียหายประมาณ 1,230 ล้านบาท และคดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ต่างประเทศ-มีคนไทยร่วมขบวนการ หลอกลวงคนไทยผ่านทางออนไลน์ ความเสียหายประมาณ 15,800 ล้านบาท

นอกจากหน่วยงานรัฐที่เร่งปราบปรามแล้ว ข้อสำคัญคือประชาชนต้องพึงระวังในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่น่าสงสัย รวมถึงตั้งสติและคิดให้รอบด้านก่อนทำธุรกรรมใด ๆ โดยเฉพาะการชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ร่วมลงทุนหรือทำธุรกิจที่ได้กำไรมากผิดปกติ เพราะคดีลักษณะนี้เมื่อสูญเสียเงินไปแล้วยากที่จะตามคืนมาได้