“ส่งเสริมเมืองรอง” เพื่อชุมชนหรือประชานิยม ?

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทุกแห่งต่างหันมาปลุกกระแสการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้วยการใช้ภาคการท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ผลพวงจากปีที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 20% ของจีดีพีประเทศ

ทำให้รัฐบาลมองว่า “ท่องเที่ยว” เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภูมิภาค จึงประกาศนโยบายให้คนไทยสามารถนำรายจ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2561 นี้ ไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

โดยมีเงื่อนไขเพียงว่าจะต้องเป็นการใช้จ่ายในเมืองรอง 55 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ เชียงราย ลำปาง ลำพูน เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิจิตร แพร่ น่าน อุดรธานี อุบลราชธานี นครนายก สระแก้ว ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี จันทบุรี ชุมพร ระนอง ฯลฯ

พร้อมกันนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ยังประกาศด้วยว่า รัฐบาลมีงบประมาณอีก 6,000-7,000 ล้านบาท ที่กันไปสำหรับอัดฉีดและพัฒนาเรื่องที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องการงบฯไปพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเอง

หลังรัฐบาลประกาศมาตรการให้นำรายจ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวไปลดหย่อนภาษีได้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่างทำแผนพัฒนาเพื่อของบฯสนับสนุนกันมากมายเต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็น กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่ชงของบประมาณเพื่อนำเงินมาลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองรองทั้ง 55 จังหวัด

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ชงของบฯกว่า 3,200 ล้านบาท สำหรับพัฒนาความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด หรือจังหวัดละ 50 ล้านบาท ขณะที่กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ของบฯมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอีกเช่นกัน

ทุกหน่วยงานล้วนให้เหตุผลในการของบประมาณว่า เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ดูแล รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญ เป็นการตอบสนองนโยบายด้านการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และกระจายรายได้ให้เข้าถึงระดับท้องถิ่น

นี่ยังไม่รวมงบฯพัฒนาจังหวัด ที่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงงบฯสำหรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกจำนวนมหาศาลอีกส่วนหนึ่งด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯยังอาสาเป็นตัวกลางในการประสานงานกับเอสเอ็มอีแบงก์ จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ และนำเงินไปพัฒนาโปรดักต์ของตัวเอง และเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่อีกแนวทางหนึ่งด้วย

ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายภาคส่วนจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า แนวทางที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเดินอยู่นั้นเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง และสามารถกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนได้จริงหรือไม่ และเป็นนโยบายที่คุ้มค่ากับงบประมาณที่โหมใส่เข้าไปหรือไม่

จนเกิดคำถามว่า มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจใน “ชุมชน” หรือว่าเป็นหนึ่งในโครงการสร้าง “ประชานิยม” กันแน่ ?

ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งโรงแรม เจ้าของสถานประกอบการด้านท่องเที่ยว รวมถึงบริษัทนำเที่ยวต่างพูดในทำนองเดียวกันว่า การโหมทำแคมเปญเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่เมืองรองนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยวราว 90% ยังคงนิยมเที่ยวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ ชลบุรี

พร้อมแนะนำว่า รัฐควรหันมาโปรโมตให้คนไทยด้วยกันเอง หันมาเที่ยวในพื้นที่เมืองรองให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยขยายวงไปหาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ความหมายก็คือว่า รัฐควรใช้งบประมาณที่เหมาะที่ควร ไม่ใช่โหมกันหนักขนาดนี้ เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศได้ไม่เท่ากับเกิดประโยชนต่อคณะรัฐบาล จนกลายเป็นนโยบายประชานิยม สร้างฐานเสียงความนิยมให้กับรัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง !

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้