10 Megathreats ความเสี่ยงใหญ่ของโลกในวันหน้า

Megathreats
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ดร.ฐิติมา ชูเชิด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

หลายปีที่ผ่านมาโลกใบนี้เจอกับความไม่แน่นอนสูงขึ้นมาก ความเสี่ยงใหญ่หน้าใหม่หลายเรื่องเกิดขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด ไม่นานนี้ “Nouriel Roubini” ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า โลกกำลังจะเข้าสู่วงจรที่มืดมน (doom loop) จากความเสี่ยงใหญ่ (megathreats) หลายคนอาจพอได้ยินชื่อท่านนี้ในฐานะศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระดับโลก และเป็นที่รู้จักในนาม Dr.Doom เพราะเคยออกมาส่งสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤต Roubini ออกมาส่งสัญญาณเตือนอีกครั้งว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ doom loop จาก megathreats ได้แก่

1) วิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ (The mother of all debt crises) 2) การล้มละลายของภาคเอกชนและภาครัฐ (Private and public failures)

3) กับดักนโยบายการเงินผ่อนคลายกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (The easy money trap and boom-bust cycle) 4) การมาถึงของยุคเศรษฐกิจตกต่ำแต่เงินเฟ้อสูง (The coming great stagflation)

5) การล่มสลายของค่าเงินและระบบการเงินไร้เสถียรภาพ (The currency meltdown and financial instability) 6) ระเบิดเวลาปัญหาประชากร (The demographic time bomb) 7) การสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ (The end of globalization)

8) ความเสี่ยงจาก AI (The AI threat) 9) สงครามเย็นยุคใหม่ (The new cold war) และ 10) โลกที่คนอาศัยอยู่ไม่ได้ (An uninhabitable planet)

จะเห็นได้ว่า megathreats 10 เรื่องที่ถูกหยิบยกมานี้จัดเป็นความเสี่ยงระยะปานกลางถึงยาวที่มีลักษณะ stagflationary เพราะมีผลกระทบลดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มต้นทุนการผลิตในเวลาเดียวกัน

ฉากทัศน์ของ megathreats พอสรุปภาพได้ดังนี้ Roubini ตั้งข้อสังเกตว่า หนี้ภาครัฐและภาคเอกชนในโลกเร่งตัวเร็วมาก อยู่ที่ 350% ของ GDP โลกในปี 2022 (เทียบกับ 200% ณ ปี 1999) ไม่ว่าระดับรัฐบาล บริษัท หรือครัวเรือนที่ก่อหนี้สูงไว้ หากไม่สามารถหารายได้ให้พอใช้จ่ายได้จริง จะเริ่มได้รับผลกระทบในยุคดอกเบี้ยสูง จากที่เคยอยู่รอดมาได้ในยุคดอกเบี้ยต่ำและกู้เงินง่าย ทั้งการออกตราสารหนี้และขอสินเชื่อ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่มีบทบาทเป็นแหล่งเงินทุนสูงขึ้นมาก

พอเงินเฟ้อเร่งตัวสูง ทำให้เกมเปลี่ยน ธนาคารกลางต้องปรับกลยุทธ์ ลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีความสามารถชำระหนี้ลดลงมาก จนอาจถึงขั้นล้มละลายได้ งบดุลและงบกำไรขาดทุนเริ่มสะท้อนความอ่อนแอของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน รายได้รายจ่ายไม่สมดุล เกิดผลขาดทุน หลังหมดยุคนโยบายดอกเบี้ยต่ำและมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ จะเห็นเงินเฟ้อในราคาสินทรัพย์เริ่มลดลง

แต่เงินเฟ้อในราคาสินค้าและบริการเร่งตัว จากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด รวมถึงห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุดหลังเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด ธนาคารกลางทั่วโลกหันมาใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยสูง และทยอยถอนสภาพคล่องจากระบบการเงิน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกตกต่ำและเงินเฟ้อสูง (stagflation)

ปัญหาเงินเฟ้อสูงยังเป็นต้นเหตุ duration risks ในตลาดการเงิน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ส่งผลให้ราคาพันธบัตรและราคาหุ้นปรับลดลงตามความสัมพันธ์ที่ผกผันกันอยู่ สถาบันการเงินหรือนักลงทุนสถาบันที่ถือ long-duration fixed-income assets ไว้จะเจอ unrealized losses on securities เช่น ระบบธนาคารสหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 ขาดทุนรายการนี้ 6.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (28% ของส่วนของทุนรวม 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

หากรวม unrealized losses on other assets ด้วย ผลขาดทุนรายการนี้จะสูงถึง 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 80% ของส่วนของทุนรวม เป็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่เห็นจากกรณีบางธนาคารในสหรัฐเจอปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจแห่ถอนเงิน จนทางการต้องสั่งปิดและเข้าไปดูแลให้ผู้ฝากเงินกลับมาเชื่อมั่นได้ เรื่องนี้ชี้ว่าธนาคารกลางเผชิญสถานการณ์ต้องเลือก (policy trilemma) ในการเดินหน้านโยบายดอกเบี้ยสูงแก้เงินเฟ้อสูง แลกกับผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

หากเกิดวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ ทั้งในระดับภาคเอกชน ภาคสถาบันการเงิน และภาครัฐขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสังคมสูงวัยกับภาระการคลังที่เป็นระเบิดเวลาอยู่ โลกจะเข้าสู่วัฏจักรขาลงเป็น doom loop นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงใหญ่อีกหลายเรื่องเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเจอร่วมกัน เช่น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ สงครามเย็นยุคใหม่ ความเสี่ยงจากเทคโนโลยี AI อาจทำให้โลกเจอกับสารพัดวิกฤต (polycrises) รุมเร้าได้ ทั้งนี้ การจัดการ megathreats ต้องมองการจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวม (collective) เพราะความเสี่ยงใหญ่แต่ละเรื่องส่งผลกระทบระหว่างกันเองอีก

แม้โอกาสที่โลกจะเจอ doom loop อย่างที่มีผู้รู้ทักมาอาจไม่เยอะ แต่หากเกิดจริงผลกระทบจะรุนแรงมาก จัดเป็น tail risk การมองสถานการณ์จำลองกรณีโลกเลวร้ายขั้นสุดไว้จะช่วยให้ภาครัฐและเอกชนเตรียมบริหารความเสี่ยง เผื่อกรณีนี้ไว้บนความไม่ประมาท เพื่อจะได้ไม่พลัดเดินหลงไปเจอสารพัดวิกฤตโลกโดยไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน