โอกาสจากการประชุมนักธุรกิจจีนโลก

ไทย-จีน
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ในระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายนที่จะถึงนี้ จะมีการจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก หรือ The 16 th World Chinese Enterpreneurs Convention ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประเทศไทย โดยจะเป็นการประชุมครั้งที่ 16 และถือเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 2 นับจากสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง จากในอดีตที่ประเทศไทยเคยจัดประชุมในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อ 28 ปีก่อน

หอการค้าไทย-จีนในฐานะเจ้าภาพในการประชุมกล่าวว่า จะมีนักธุรกิจกว่า 40 ประเทศเข้าร่วมงาน หรือประมาณ 2,500 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักธุรกิจชาวจีนถึง 1,000 คน ญี่ปุ่น 200 คน และ มาเลเซียอีก 170 คน และยังมีนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนอีกกว่า 1,000 คนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ รวมผู้มีรายชื่อลงทะเบียนไม่ต่ำกว่า 3,500 คนยังไม่นับครอบครัวและผู้ติดตามที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย

แน่นอนว่าจะมีบริษัทชั้นนำของจีนเข้าร่วมการประชุม ทั้งบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และบริษัทที่แสดงความสนใจ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ข้อมูล สำนักงานภูมิภาค และดิจิทัล โดยยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2566 ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แสดงให้เห็นว่ามีโครงการของนักลงทุนจีนขอรับส่งเสริมลงทุนทั้งหมด 38 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 25,001 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 87

ขณะที่คำขอรับส่งเสริมลงทุนในปี 2565 ก็พบว่า จีนมีมูลค่าการลงทุนสูงสุด แซงญี่ปุ่นด้วยมูลค่า 77,381 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI

หันมาดูกับตัวเลขมูลค่าการค้าประเทศไทย-จีนในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2566) ของปีนี้ พบว่ามีมูลค่า 43,441.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกจากจีนมาไทยคิดเป็นมูลค่า 26,979.9 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และจีนนำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 16,431.3 ล้านเหรียญ หรือลดลงร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ตัวเลขการค้าในปี 2565 ยังแสดงให้เห็นความสำคัญของจีนในฐานะคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยคิดเป็นมูลค่าการค้า 3.69 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 1.53 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด

มีการประเมินจากหอการค้าไทย-จีนว่า จะมีเงินสะพัดในประเทศระหว่าง 400-500 ล้านบาท จากการ “ยกทัพ” เข้ามาของนักธุรกิจจีนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 3 วัน ซึ่งเทียบกันไม่ได้กับมูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายข้างต้นที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น จากการเป็น “หุ้นส่วน” การค้าซึ่งกันและกัน

โดยอาศัยสายสัมพันธ์ของการเป็นนักธุรกิจไทยที่มีเชื้อสายจีน ส่งผลให้การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกในครั้งนี้ยิ่งทวีความสำคัญสำหรับประเทศไทยในการเข้าถึง “โอกาส” ทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไทยต้องพร้อมที่จะแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้ามาในประเทศให้ได้