บนทางแยกในปัญหาเมียนมา

MYANMAR
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ของนโยบายต่างประเทศของไทยว่าด้วยปัญหาเมียนมา เมื่อกระทรวงการต่างประเทศโดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลรักษาการ ได้จัดให้มีการประชุมที่เรียกว่า การประชุมพบปะสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้ได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ของอาเซียนที่กรุงพนมเปญในปี 2565 แล้ว

หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังสมาชิกอาเซียน ปรากฏมีระดับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมเพียง 3 ท่าน ได้แก่ รมต.ต่างประเทศไทย-สปป.ลาว และเมียนมา ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือส่งระดับผู้แทนหรือเจ้าหน้าที่เข้าร่วม

“ยกเว้น” อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในสถานะประธานอาเซียน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมและมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะเริ่มต้นการสานสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า “ผู้นำอาเซียน” ต่างยึดมั่น “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่ตกลงกันไว้ในการประชุมสุดยอดนัดพิเศษของผู้นำอาเซียนในเดือนเมษายน 2564 ที่จาการ์ตา ซึ่งผู้นำการรัฐประหารเมียนมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย โดยฉันทามติทั้ง 5 ข้อประกอบไปด้วย

1) จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทนอดกลั้นถึงที่สุด 2) กระบวนการเจรจาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเกิดขึ้น 3) ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการพูดคุยเจรจา 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน หรือ และ 5) ทูตพิเศษและคณะทำงานจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมา กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ แต่กลับมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการพูดคุยกับทุกฝ่าย ทูตพิเศษไม่สามารถพบปะหารือกับทุกฝ่าย จนนำมาซึ่งการไม่เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุมในทุกเวทีของอาเซียน

ดังนั้นการจัดประชุมพบปะที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของฝ่ายไทยหรือที่เรียกว่า การกลับมามีปฏิสัมพันธ์อีกครั้งหรือการพัฒนาแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาเมียนมา จึงกลายเป็นความเห็นต่างที่ไม่เป็นเอกภาพของอาเซียน เมื่อฝ่ายหนึ่งยึดฉันทามติ 5 ข้อ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังหาวิธีการพูดคุยใหม่โดยอ้างถึงความไม่สามารถรั้งรอในการแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชายแดนติดต่อกับไทยถึง 2,500 กิโลเมตร เปิดทางให้รัฐบาลทหารเมียนมากลับมามีที่ยืนอีกครั้งหนึ่ง