ถึงคราว AI รุกรานแย่งงานผู้หญิง

AI
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

แม้จะพยายามปลอบใจกันเองมาพักใหญ่ว่า เราคงไม่ตกงานเพราะ AI หรอก ตราบที่เรายังมีข้อได้เปรียบในการคิดวิเคราะห์ และครีเอตไอเดียใหม่ ๆ ที่ AI (ยัง) ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่าคน

แต่พอเริ่มจะเบาใจ ก็ดันมีงานวิจัยออกมาเขย่าขวัญอีกแล้ว

คราวนี้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มแรงงานหญิงเป็นหลัก

แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานแรงงานผู้หญิงในอเมริกาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีการจ้างงานหญิงวัย 25-54 ปี สูงถึง 77.6% แต่หัวใจพองฟูกันได้ไม่นาน ก็ต้องเหี่ยวแฟบลงอีกครั้ง เมื่องานวิจัยล่าสุดจาก Kenan-Flagler Business School ของ University of North Carolina เผยว่า เกือบ 80% ของแรงงานหญิงในอเมริกา หรือ 59 ล้านคน ประกอบอาชีพที่มีโอกาสโดนแทนที่ด้วย AI

โดยงานที่สุ่มเสี่ยงจะโดนดิสรัปต์มากสุด ได้แก่ งานธุรการ เฮลท์แคร์ การศึกษา ฝึกอบรม บรรณารักษ์ และงานบริการชุมชนต่าง ๆ

ในขณะที่ Revelio Labs บริษัทวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ชี้ว่างานที่เสี่ยงจะเป็นเหยื่อ AI เป็นแรงงานหญิงกว่า 71% และงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บริการเรียกเก็บเงิน งานบันทึกเวลาการทำงานและคำนวณการจ่ายเงินเดือน งานเลขาฯผู้บริหาร งานพิมพ์เอกสาร และงานบัญชี/ตรวจสอบบัญชี

จูเลีย พอแลค จาก ZipRecruiter มองว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงกว่า เพราะงานที่ AI ทำได้ส่วนใหญ่เป็นงานออฟฟิศ (เพราะคงไม่มีใครให้ AI ไปเลื่อยไม้ กำจัดแมลง หรือซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ส่วนใหญ่เป็นงานของผู้ชาย) แต่ก็ไม่อยากให้มอง AI ในแง่ร้ายไปหมด เพราะ AI ก็เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างโอกาสงานใหม่ ๆ มากมายเช่นกัน

ด้าน ดานา ปีเตอร์สัน จาก The Conference Board เห็นด้วยว่า AI คงช่วยเจาะสายน้ำเกลือหรือพลิกตัวคนไข้ไม่ได้ แต่มันสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยวิเคราะห์อาการหรือต้นเหตุของโรคได้

แต่ข้อจำกัดของ AI โดยเฉพาะ generative AI อย่าง ChatGPT คือ มันทำงานกับข้อมูลที่มนุษย์ผลิตขึ้นหรือป้อนให้

ดังนั้น สิ่งที่มัน generate ขึ้นมาก็อาจไม่ถูกต้องเสมอไป และยังต้องพึ่งพามนุษย์ในการตรวจสอบอยู่

ในขณะที่นักวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศจาก Montana State University อย่างซาร่า มานไฮเมอร์ มั่นใจว่า AI ไม่มีทางมาแทนที่บรรณารักษ์ที่เป็นมนุษย์ได้ 100%

ซาร่าอธิบายว่า คุณสมบัติหลักของบรรณารักษ์ คือ ความสามารถในการวิเคราะห์แหล่งที่มาเพื่อยืนยันว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นงานที่เธอคิดว่า AI อาจทำได้ไม่ดีเท่าคน

อีกทั้งข้อมูลที่ AI ใช้มาจากแหล่งข้อมูลอย่าง Wikipedia หรือ Reddit ซึ่งคนป้อนข้อมูลส่วนใหญ่เป็น “ผู้ชายผิวขาว” ที่อาจมีอคติทางเพศและเชื้อชาติ

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกมั่นคงในอาชีพการงานเหมือนซาร่า

เช่น เมอริดิท นูโด นักเขียนและนักพากย์อิสระ ที่ระแวงว่า AI จะมาแย่งงานของเธอ จนต้องระบุไว้ในสัญญา ห้ามนายจ้างเอาผลงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือเสียงพากย์ ไปใช้ฝึก AI เด็ดขาด

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจงงว่า AI มันเลียนแบบเสียงได้ด้วยเหรอ

คำตอบ คือ ใช่

และมันทำได้ดีมากถึงขั้นที่สมาคม National Association of Voice Actors (NAVA) ต้องรณรงค์ให้ความรู้เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมตระหนักถึงความเสี่ยงนี้

ทิม ฟรีแลนเดอร์ ประธาน NAVA ให้สัมภาษณ์กับ Motherboard ว่า เดี๋ยวนี้มีนายจ้างหัวใสจำนวนมากที่นิยมระบุเงื่อนไขในสัญญาจ้างว่า นักพากย์ต้องอนุญาตให้นายจ้างนำเสียงไป “สังเคราะห์” เพื่อสร้างเสียงใหม่ได้ หากอยากได้งาน โดยบางครั้งภาษาที่ใช้ในสัญญาจะค่อนข้างกำกวม ทำให้นักพากย์หลายคนไม่ทันเฉลียวใจว่า กำลังยกเสียงตัวเองไปให้คนอื่นใช้ฟรี ๆ ในอนาคต

หรือบางคนถึงรู้ทัน ก็จำต้องเซ็นยินยอมไป เพราะกลัวไม่ได้งาน

เรื่องนี้ใหญ่มากจน NAVA ต้องแนะนำบรรดาสมาชิกนักพากย์ว่า อย่ายกสิทธิในเสียงของตนให้ลูกค้าเด็ดขาด และหากไม่แน่ใจในข้อสัญญาก็ให้ติดต่อทนายความของสหภาพก่อนจะตัดสินใจ

ในฐานะนักพากย์ เมอริดิทไม่ได้ต่อต้าน AI ชนิดไม่เผาผี แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงเช่นกัน

เธอมองว่า AI ก็มีประโยชน์ เพราะมันช่วยเอางานน่าเบื่อบางอย่างไปทำแทนได้ เช่น การถอดเทป หรือการจดบันทึก แต่ไม่ควรปล่อยให้มันเข้ามาก้าวก่ายงานหลัก ไม่อย่างนั้นมนุษย์เราก็มีสิทธิตกงานได้ง่าย ๆ เหมือนกัน