บทบาทภาควิชาการในการพัฒนาคนไทย

ดิจิทัล AI
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การเมือง สังคม เศรษฐกิจ และนวัตกรรม ล้วนมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะในฐานะต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือในมุมของผู้ได้รับผลกระทบ

คนจะอยู่อย่างไรในโลกยุคใหม่ที่ AI กลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของการใช้งาน Generative AI เกิดขึ้นในวงกว้าง แม้ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่คนทั่วโลกซึ่งไม่จำเป็นต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมก็สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันเปิดประตูสู่อนาคต ดังที่อาจารย์ Andrew Ng เริ่มกล่าวว่า “AI เป็นดั่งไฟฟ้า” ต่อยอดที่คุณ Clive Humby จุดประกายว่า “ข้อมูล คือ น้ำมัน ในยุคใหม่”

หากเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันในอดีตแล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คือ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอดีตการมีเทคโนโลยีกับการที่คนส่วนใหญ่จะสามารถใช้งานอย่างแพร่หลาย นับเป็นเรื่องสืบเนื่อง แต่อาจเกิดขึ้นต่างวาระได้

ในการนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล” หรือ digital divide ที่ผู้ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลมีความหลากหลายมาก จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้เปรียบเสียเปรียบในวงกว้าง ทางออกคือ การส่งเสริมให้เกิด “ความรู้ประสีประสาทางดิจิทัล” หรือ digital literacy ป้องกันความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะพบว่ามีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัลข้อมูลขนาดใหญ่ และ AI กันโดยทั่วไป อาทิ ผลงานวิจัย บทความธุรกิจ และเอกสารภาครัฐ แต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางดิจิทัลที่ไม่ได้เข้าถึงการใช้งานอยู่ก่อนยังมีข้อจำกัด

ภาควิชาการพร้อมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนกลไกการทำงานรัฐร่วมเอกชนเพื่อพัฒนาคนไทย

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านดิจิทัล หรือการปรับตัวต่าง ๆ มีลักษณะร่วมมาจากความแตกต่างของพื้นฐาน ทำให้มีความพร้อมในการประยุกต์ใช้งานโอกาสและรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน ในการนี้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อให้เกิดการปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ยังต้องรวมถึงผู้คนที่มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากมันด้วย

การจัดการปัญหาความไม่เท่าเทียมกันจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ ความเหลื่อมล้ำนี้ปรากฏชัดในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางดิจิทัลและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับตัวมักถูกมองว่าเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ เนื่องจากธรรมชาติของมันเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านงบประมาณ กฎระเบียบ และเทคโนโลยีท้าทายรัฐบาลทั่วโลกในการตอบสนองความต้องการเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือ นักวิจัยเชิงวิชาการกลายเป็นผู้สร้างโอกาส โดยเป็นหัวหอกในการวิจัยเชิงหลักฐานเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนเหล่านี้

ภาควิชาการมีศักยภาพในการเป็นตัวแทนสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกร่วมรัฐ-เอกชนเพื่อพัฒนาคนไทย แม้ว่าในอดีต หลายคนจะคิดว่านักวิชาการเป็นมุมมองจากหอคอยงาช้าง และมีแต่งานขึ้นหิ้ง ทางนักวิชาการเองก็เบื่อหน่ายกับการใส่พลังงานกับการทำงานวิจัยและสุดท้ายก็ขึ้นหิ้งจริง ๆ

อย่างไรก็ดี กระแสความสำคัญของข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดังนั้น บทบาทของสถาบันการศึกษาก็มีการเคลื่อนไหวในการนำข้อมูลไปสู่การปฏิบัติ เช่น ทาง THE ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบต่อสังคมสูง (SDGs Impact) ทั่วโลก โดย THE Impact Ranking เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการกระตุ้น และมีมหาวิทยาลัยไทยจัดเป็น top 20 ที่ช่วยส่งเสริม SDG และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ศูนย์ประสานงานวิจัยและแพลตฟอร์มกลไกความร่วมมือรัฐร่วมเอกชนเป็นอาวุธทางปัญญาพัฒนาคนไทย

ในประเทศไทยเอง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของภาควิชาการสายวิจัยในการร่วมขับเคลื่อนกลไกการทำงานรัฐร่วมเอกชนเพื่อพัฒนาคนไทยมีกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายส่วน อาทิ

ศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR) (ชื่อปัจจุบันหน่วยปฏิบัติการวิจัยและประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและกระทรวงแรงงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาแรงงาน CU-ColLaR ในลักษณะเชิงบูรณาการของความรู้ด้านแรงงานข้ามคณะและข้ามศาสตร์ เผยแพร่ความรู้และงานวิจัยด้านแรงงานผ่านความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับชาติและนานาชาติ

ที่สำคัญ CU-ColLaR มีส่วนช่วยเหลือสังคมที่ยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการวิจัยและมีส่วนผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ด้านข้อมูลแรงงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยส่งเสริมให้งานข้อมูลและการวิจัยด้านแรงงานเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงคนวงกว้างขึ้น

นอกจากนี้ ในปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้จัดตั้งแพลตฟอร์ม sustainable society (SS) เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับชุมชนและองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มศักยภาพชุมชนผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ นำโดย ศ.ดร.จักรพันธ์ สุธิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และรองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย แพลตฟอร์ม sustainable society (SS) มีสามส่วนที่สำคัญ ได้แก่ สังคมที่น่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสังคมถ้วนถึง

ทั้งสามส่วนนี้มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมแบบบูรณาการเพื่อสร้างสังคมที่ครอบคลุมและมีส่วนร่วม เพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ส่งเสริมนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมกับวิธีการใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

บทบาทของนักวิชาการพร้อมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนกลไกการทำงานรัฐร่วมเอกชนเพื่อพัฒนาคนไทย ทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลให้ง่ายขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล การชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและจริยธรรม

และที่สำคัญคือการเสริมศักยภาพและการใช้ประโยชน์จาก AI ผ่านการใช้ข้อมูล เพิ่มจำนวนคนที่จะได้รับประโยชน์จากข้อมูล ล้วนเป็นงานสำคัญที่ภาควิชาการต้องรวมพลังกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน การพยายามใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดความเท่าเทียมและถ้วนถึงที่สุดในการพัฒนาคนไทยและสังคมโลก

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด