เล่นมือถือ-ก้มศีรษะดูจอมาก ทำ “กระดูกสันหลังคด”

กระดูกสันหลังคด
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

หลายคนเมื่ออายุมากขึ้นโรคต่าง ๆ เริ่มตามมา ซึ่งหมอแผนปัจจุบันส่วนใหญ่จะรักษา และจ่ายยาให้ตามอาการ ซึ่งเป็นปลายเหตุ แต่ไม่ได้รักษาต้นเหตุแท้จริงของการเกิดโรค

เมื่อได้มีโอกาสคุยกับ “ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์” ศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม โรงพยาบาลศิริราช เจ้าของเพจ “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” ทำให้เข้าใจความป่วยไข้ของร่างกายมากขึ้น

อ.อดุลย์เล่าว่า บ่อยครั้งการเรียนแพทย์ ลงลึกไปในศาสตร์ต่าง ๆ มากเกินไป จนอาจจะมองข้ามความเชื่อมโยงในการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หลายครั้งอาจลืมไปว่า ระบบการทำงานต่าง ๆ ของอวัยวะภายในร่างกาย เชื่อมโยงกับสรีระ โครงสร้าง กล้ามเนื้อ ท่าทางของร่างกายเราด้วย

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักการที่ได้รับมาจาก “รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ” อดีตหัวหน้าหน่วยฝังเข็ม ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งสอนเรื่องการฝังเข็มให้คนแรก ก่อนไปเรียนฝังเข็มที่กว่างโจว ประเทศจีน ด้วยความชอบส่วนตัว และได้เขียนหนังสือ “ฝังเข็ม กับดุลยภาพบำบัด” ขึ้น เพื่อสอนเคล็ดวิชาให้หมอด้วยกัน

โดย อ.ลดาวัลย์สอนให้ดูผู้ป่วยทั้งตัว “แบบองค์รวม” โดยให้ผู้ป่วยถอดเสื้อออก และมองตั้งแต่หัวถึงเท้า เพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้น สัมพันธ์กับอาการที่ตรวจพบในคนไข้ บางครั้งให้เอารองเท้าทั้ง 2 ข้างมาหงายดูว่า สึกเท่ากันหรือไม่ สึกด้านในหรือด้านนอก ให้มองร่างกาย สรีระ การเจ็บป่วย อย่างเชื่อมโยง

การดูและตรวจร่างกายคนแบบทั้งตัว เป็นจุดตั้งต้นกระบวนการมองการเจ็บป่วย และการรักษา “แบบดุลยภาพบำบัด”

ยกตัวอย่าง เวลาปวดเมื่อยไปหาหมอตรวจพบว่า “กระดูกสันหลังคด” มีการโค้งงอของแนวกระดูกสันหลัง อาจเป็นรูปตัว S เมื่อมองจากด้านหลัง ส่งผลให้มีการปวดตึงต้นคอ สะบัก หายใจติดขัด ปวดเอว ฯลฯ

ธรรมชาติของร่างกาย เวลามีอาการเจ็บ หรือล้าของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง อวัยวะหรือกล้ามเนื้อส่วนอื่น จะมาทำงานชดเชย เพื่อให้เกิดสมดุล มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น สะบักซ้ายตึง คอด้านขวาต้องดึงให้ตึงขึ้น เพื่อให้ศีรษะตั้งตรงอยู่ เอวด้านขวาเกร็งขึ้นเพื่อให้ลำตัวตั้งตรง

กระดูกสันหลังคด เป็นการคดจากการดึงตัวของกล้ามเนื้อ 2 ด้าน แต่ละช่วงไม่เท่ากัน ส่วนที่เป็นกระดูกยังเหมือนเดิม คือ พร้อมปรับตัวไปตามกล้ามเนื้อ

เช่น “การเล่นมือถือ” ใช้มือข้างเดียวถือ เอียงคอดูมือถือ ทำให้มีการล้า เกร็งของกล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน สะบัก และร่างกายอีกด้านหนึ่ง ต้องหดตัวเพื่อชดเชยให้อยู่ในร่างกายสมดุล จึงเกิดภาวะหลังคด

นอกจากนี้ มีการคด ในแนวหน้า-หลังอีก เกิดบ่อยเวลา “ก้มศีรษะดูจอคอมพิวเตอร์” หรือบางคนท่านั่ง ท่านอน ที่คุดคู้อยู่ในเก้าอี้ หรือโซฟา

การปรับให้กระดูกสันหลังคด ต้องปรับกล้ามเนื้อที่ตึงให้หย่อน ที่หย่อนทำให้ตึง สามารถทำได้ด้วยการนวด กดจุด ฝังเข็ม เพื่อคลายเส้น และออกกำลังกายบริหาร เพื่อให้กล้ามเนื้อที่หย่อนแข็งแรงขึ้น จำเป็นต้องยืดเหยียด และบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงต่อเนื่อง เพราะการจัดให้เข้าที่เพียงครั้งเดียว แต่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ก็กลับไปเกิดปัญหาเหมือนเดิม

“กระดูกสันหลังคด ไม่ได้เป็นปัญหาของกระดูก เป็นปัญหาของกล้ามเนื้อที่ยึดกระดูกสันหลัง” อ.อดุลย์กล่าวทิ้งท้าย