ภาคเกษตรไทย กับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

เกษตรไทย
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : กฤชนนท์ จินดาวงศ์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตภาคเกษตรทั่วโลกอยู่ที่ราวปีละ 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7 แสนล้านบาท) และคาดว่าในปี 2030 ความเสียหายในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ปีละ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก ทำให้ปัจจัยความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ หรือ climate risk มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ ในระยะข้างหน้า ปัญหา climate risk จะสร้างความเสี่ยงต่อภาคเกษตรไทยในมิติใดบ้าง ? ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นรอบล่าสุดนี้จะสร้างความเสียหายแค่ไหน รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างไร ?

climate risk จะสร้างความเสี่ยงต่อภาคเกษตรไทยใน 2 มิติหลัก คือ

1) ความเสี่ยงจากผลกระทบทางกายภาพ (physical risk) เช่น การเกิดภัยแล้งหรืออุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

และ 2) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านต่อระบบเศรษฐกิจ (transition risk) เช่น ความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยในตลาดส่งออก จากปริมาณผลผลิตลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

ความเสี่ยงเชิง physical risk จากปรากฏการณ์เอลนีโญในรอบนี้ Krungthai COMPASS คาดว่าจะทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหายราว 5.3 หมื่นล้านบาท โดยข้าวจะได้รับความเสียหายมากที่สุดราว 2.8 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ อ้อยได้รับความเสียหายราว 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนมันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 8 พันล้านบาท

เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉพาะในภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ อีกทั้งข้าวเป็นพืชที่ทนแล้งได้น้อยกว่าอ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้จะได้รับความเสียหายมากกว่า

โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายปี 2566 รวมทั้งกระทบกับผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลังที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนความเสี่ยงเชิง transition risk ซึ่งอยู่ในรูปแบบของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่จะมีความเข้มงวดขึ้น จะเป็นอีกอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ (US) ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

เช่น นโยบาย Farm to Fork ของ EU ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงยุโรปสีเขียว (European Green Deal) ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยตั้งเป้าว่าจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อากาศแปรปรวน ให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตของภาคเกษตร เช่น กลุ่มธุรกิจเกษตรแปรรูป ในระยะต่อไปควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุนสินค้าเกษตร เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกร ก็จะช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุน ในช่วงที่ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้อาจร่วมมือกับเกษตรกรในการประยุกต์ใช้ climate tech เพื่อช่วยบริหารจัดการและติดตามข้อมูลสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ อีกทั้งควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการค้า เนื่องจากกฎระเบียบการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีการยกระดับอยู่เสมอและมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น

ส่วนกลุ่มเกษตรกร ควรประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าเดิม เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ที่ช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกได้ถึง 15% อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนพลังงานในการสูบน้ำเข้าแปลงนาข้าว และยังมีส่วนช่วยให้ต้นข้าวมีประสิทธิภาพต้านทานต่อโรคและแมลงมากขึ้น นอกจากนั้นยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการเพาะปลูกข้าวอีกด้วย

นอกจากนี้ควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน เช่น การวิเคราะห์ดินเพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้ตรงกับลักษณะดิน ทำสามารถให้ลดอัตราการใช้ปุ๋ยได้ถึง 50-60 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการเพาะปลูก

สุดท้าย ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่นอกชลประทานซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งค่อนข้างมาก โดยที่ผ่านมาการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำในภาคเกษตรของไทยยังค่อนข้างน้อย อยู่ที่เพียง 0.4% ของ GDP เทียบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติซึ่งควรอยู่ที่ 1-2% ของ GDP

รวมทั้งรัฐควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำในเพาะปลูก ส่งผลให้การใช้น้ำในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น