ความยากของการบริหารจัดการน้ำ

น้ำท่วม
น้ำท่วม
บทบรรณาธิการ

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมไล่มาตั้งแต่จังหวัดลำปาง แพร่ สุโขทัย ไปจนกระทั่งถึงจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานี โดยน้ำท่วมดังกล่าวเกิดจาก หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ได้เคลื่อนที่พาดผ่านประเทศไทย 2 ช่วง

การเกิดขึ้นของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ซึ่งพร้อมที่จะพัฒนาขึ้นเป็น พายุไต้ฝุ่น หากทวีกำลังแรงขึ้นนั้น สวนทางกับความเชื่อตามปกติที่ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปลายของฤดูฝน ซึ่งกรมชลประทานจะต้องคำนวณปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อจัดสรรการใช้น้ำให้ถึงช่วงฤดูแล้งปี 2567 โดยปรากฏการณ์หย่อมความกดอากาศต่ำที่พร้อมจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุที่มีการคาดการณ์กันว่า อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะส่งผลกระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำที่เตรียมไว้รับมือภัยแล้ง กลับกลายเป็นการรับมือกับน้ำท่วมใหญ่ที่กำลังจะเกิดตามมา

จากข้อเท็จจริงที่ว่า แผนการจัดสรรน้ำที่ผ่านมาได้เน้นไปที่การเก็บกักปริมาณสำรองน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่จากความกังวลในปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือฝนน้อย-น้ำน้อย ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จะลากยาวต่อเนื่องไปตลอดปี 2567 ส่งผลให้ต้องกักเก็บปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อ “การันตี” การมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคไปจนถึงช่วงฤดูแล้งปีหน้า แต่พอเหตุการณ์พลิกผันเกิดฝนตกหนักจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในช่วงปลายฤดูฝน ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บจนล้นเกินความจุของอ่าง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เขื่อนลำปาว ปัจจุบันต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่าง เนื่องจากปริมาตรน้ำล้นเกินความจุของอ่าง คิดเป็นร้อยละ 104 ทำให้เขื่อนต้องระบายน้ำออกเพื่อให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างจากฝนที่ตกเหนือเขื่อน ซึ่งเป็นอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านเข้ามา

การระบายน้ำดังกล่าวทำให้เกิดน้ำท่วมนอกคันกันน้ำในพื้นที่จังหวัดยโสธร ไปจนกระทั่งถึงอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ปลายน้ำก่อนที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่างที่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ได้รับประโยชน์จากปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน ประกอบกับที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำในเขื่อนทั้ง 2 แห่งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างน้อยมาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

โดยความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ การเกิดของจำนวนครั้งของพายุ และทิศทางการเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย ทำให้ยากต่อการวางแผนการจัดสรรน้ำของประเทศ จากภาคหนึ่งที่ต้องเร่งระบายน้ำออก กับอีกภาคหนึ่งที่ต้องการปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นจำนวนมาก จึงควรที่แผนบริหารจัดการน้ำของประเทศจะต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ด้านหนึ่งเพื่อรับมือผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ อีกด้านหนึ่งจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งหน้า