คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย สนง.ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ
ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พลาสติกเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก โดยในปี 2559 การผลิตพลาสติกทั่วโลกมีจำนวน 322 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า
แต่ทว่าพลาสติกส่วนใหญ่กลับถูกนำมาใช้ประโยชน์เพียงครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ขวด หลอด มีด และส้อมพลาสติก เป็นต้น ซึ่งขยะเหล่านั้นจะต้องใช้เวลานานนับหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลายได้
ทุก ๆ ปี ปริมาณขยะพลาสติกทั่วโลกมีมากกว่า 300 ล้านตัน ซึ่งบางส่วนได้แตกสลายกลายเป็นพลาสติกเศษเล็กเศษน้อย หรือเรียกว่าไมโครพลาสติก (microplastic) ที่สามารถปลิวไปตามอากาศ ในขณะเดียวกัน ขยะพลาสติกราว 5-13 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่ท้องทะเล หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของขยะในทะเลทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน การกินขยะพลาสติกของนกและปลาในทะเล รวมทั้งการสะสมของไมโครพลาสติกในดินหรือแหล่งน้ำ
ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตพลาสติกยุโรป ระบุว่า ชาวยุโรปทิ้งขยะพลาสติกประมาณ 26 ล้านตัน/ปี โดยมีขยะพลาสติกไม่ถึงร้อยละ 30 ที่ถูกส่งออกไปยังประเทศที่สามที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่ายุโรป เพื่อทำการรีไซเคิล ส่วนขยะที่เหลือจะถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบหรือเผาในเตา
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตและทำลายพลาสติกได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 400 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ในขณะที่ความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลในยุโรปมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับความต้องการใช้พลาสติกทั้งหมด
อีกทั้งผู้ประกอบการเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านการตลาดและราคา ทำให้การลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการรีไซเคิลพลาสติกไม่คุ้มค่า
แนวทางการผลิต ใช้ และกำจัดพลาสติกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศและสุขภาพมนุษย์รวมทั้งสร้างความสูญเสียโอกาส
ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้นำกลับมาใช้ใหม่ หนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะยาว คือต้องลดขยะพลาสติกโดยนำมารีไซเคิลและใช้ซ้ำเพิ่มขึ้น
คณะกรรมาธิการยุโรปนำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการพลาสติกของยุโรป เพื่อลดขยะพลาสติกทั้งทางบก ตามแหล่งน้ำ และในท้องทะเล รวมทั้งเพื่อสร้างโอกาสด้านการพัฒนานวัตกรรม พัฒนาความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มการจ้างงานในยุโรป
กลยุทธ์ดังกล่าวยังช่วยให้สหภาพยุโรปก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าของโลกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีคาร์บอนต่ำ รวมทั้งทำให้ประชากรยุโรปมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์การจัดการพลาสติกของยุโรป-เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561
คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอ “ยุทธศาสตร์การจัดการพลาสติกของยุโรป (A Europeon Strategy for Plastic)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกครองสิ่งแวดล้อมจากมลพิษพลาสติก สนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสทางธุรกิจผ่านการปรับเปลี่ยนการออกแบบ การผลิต การใช้ และการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งการเสริมสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ และเพิ่มการจ้างงานในยุโรป
คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดเป้าหมายที่สำคัญ คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในตลาดสหภาพยุโรปไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ลดการใช้
พลาสติกแบบครั้งเดียว (singte-use plastics) และจำกัดการใช้ไมโครพลาสติกแบบเจตนาอีกด้วย
แผนการดำเนินงานของสหภาพยุโรปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ ดังนี้
(1) การทำธุรกิจรีไซเคิลให้มีกำไร
พัฒนากฎระเบียบด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลในตลาดมากขึ้น รวมทั้งจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลที่มีระบบและมาตรฐานที่ดีสำหรับการจัดเก็บและคัดแยกขยะพลาสติกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมพลาสติกยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น
(2) ลดขยะพลาสติก
จัดทำกฎระเบียบด้านการจัดการการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว (single-use plastics) กำหนดมาตรการเพื่อลดการใช้อุปกรณ์การประมงแบบใช้แล้วทิ้ง รณรงค์การลดขยะพลาสติกในประเทศสมาชิกจำกัดการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กำหนดแนวทางการคิดฉลากพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastics) และพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (biodegradable plastics) รวมทั้งนำเสนอแนวทางการจัดการขยะพลาสติกแต่ละประเภทอย่างถูกวิธีแก่ผู้บริโภค
(3) ยับยั้งการทิ้งขยะลงทะเล
จัดทำกฎระเบียบด้านศูนย์กำจัดของเสียที่ท่าเรือ โดยมุ่งเน้นการจัดการปัญหาขยะในท้องทะเล พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ท่าเรือ และกำหนดให้ขยะบนเรือหรือขยะจากการทำประมง เช่น อุปกรณ์จับปลาที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น ต้องถูกนำขึ้นฝั่งและมีการจัดการอย่างเหมาะสม
(4) สนับสนุนการลงทุนและนวัตกรรม
ให้คำแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก และภาคธุรกิจในยุโรปในการลดขยะพลาสติก ณ แหล่งผลิต
สนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรมผ่านการให้เงินทุน 100 ล้านยูโร เพื่อพัฒนาวัสดุพลาสติกอัจฉริยะที่มาจากการรีไซเคิล การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิล รวมถึงพัฒนาการติดตาม กำจัดสารอันตราย และสิ่งปนเปื้อนออกจากพลาสติกรีไซเคิล
(5) กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก
สหภาพยุโรปจะให้ความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก
ส่งเสริมการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีไปใช้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกหมุนเวียน การลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย และผลักดันให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ
ยุทธศาสตร์ข้างต้นจะนำอุตสาหกรรมพลาสติกของยุโรปไปสู่ทิศทางที่ชาญฉลาด มุ่งเน้นนวัตกรรม และความยั่ง
ยืนผ่านการออกแบบ (designed) และการผลิต (produced) ที่คำนึงถึงการนำมาใช้ซ้ำ (reuse)
การซ่อมแซม (repair) และรีไซเคิล (recycle) ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงานในยุโรป
การส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิลจะช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามพันธสัญญาของสหภาพยุโรปที่ต้องการก้าวไปสู่สังคมที่มีคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจหมุนเวียน (low-carbon and circular economy) รวมทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (2030 Sustainable Development Goals) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุตสาหกรรมอาหารกับการลดขยะพลาสติก-ข้อมูลสถิติปี 2558 พบว่า ขยะพลาสติกในยุโรปร้อยละ 60 มาจากบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ฟิล์มห่อหุ้มอาหาร กล่อง ถุง ซอง หรือขวดน้ำพลาสติก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มีการใช้เพียงครั้งเดียว ยุทธศาสตร์การจัดการพลาสติกของสหภาพยุโรปจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการอาหาร-เครื่องดื่มในยุโรปกระตือรือร้นในการปรับตัว เริ่มตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยใช้พลาสติกจากการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น พลาสติกที่ใช้น้ำ หรือพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ โรงงานผลิตพลาสติกจำเป็นต้องปรับปรุงเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการใช้พลาสติกที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในประเทศที่สามจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน เนื่องจากสหภาพยุโรปกำหนดให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกต้องสามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมารีไซเคิลได้ มีผลครอบคลุมถึงสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สามที่วางจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป โดยกฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป
นโยบายลดขยะพลาสติกและสนับสนุนการใช้พลาสติกหมุนเวียนของสหภาพยุโรปถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในการเปลี่ยนไปสู่ทิศทางการค้าแบบยั่งยืน ช่วยประหยัดต้นทุน และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ร้านค้าขายปลีกในยุโรปหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอร์แลนด์ เป็นต้น รณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาใช้ถุงผ้าหรือถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก ส่งผลให้อัตราการใช้ถุงพลาสติกต่อคนลดลงอย่างมาก
ซูเปอร์มาร์เก็ต M&S ในสหราชอาณาจักร ประกาศเปลี่ยนแบบบรรจุภัณฑ์อาหารในร้านมากกว่า 140 แบบเพื่อให้มีขนาดเล็กลงด้วยการลดอากาศในถุง โดยน้ำหนักอาหารยังคงเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกได้มากถึง 75 ตัน/ปี
บริษัท Danone ผู้ผลิตน้ำดื่มเอเวียง (evian) ในประเทศฝรั่งเศส ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมดภายในปี 2568
ประเทศไทยกับขยะพลาสติก-ไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก โดยขยะส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว (เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม) และขยะจากการทำประมง (เช่น อวน เชือก) ซึ่งยังไม่รวมขยะอื่น ๆ ที่พบในทะเล เช่น ถุง พลาสติก ฝาน้ำ ฯลฯ ในปี 2559 มีขยะไหลสู่ทะเลไทยราว 2.83 ล้านตัน โดยร้อยละ 12 เป็นขยะพลาสติก
ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเกิดจากการขาดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย โดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมา ขาดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ และขาดนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การลดขยะพลาสติก
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ อุตสาหกรรม ร้านค้า และผู้บริโภค โดยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดขยะ สนับสนุนการนำพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่หรือนำไปรีไซเคิลเพิ่มขึ้น
ปรับปรุงการออกแบบเพื่อใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด ลดการใช้พลาสติกและเปลี่ยนมาใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่ายแทน เช่น เส้นไยธรรมชาติที่ผลิตจากกัญชง ป่าน ปอ กาบกล้วย ฯลฯ
ที่สำคัญต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการลดและผลิตใช้พลาสติก รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างถูกวิธีแก่ประชาชน
หมายเหตุ – ข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป