เอลนีโญไม่ได้ลากยาวอย่างที่กลัว

นาแล้ง
นาแล้ง
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภาวะฝนน้อย น้ำน้อยขึ้นในประเทศไทย กำลังจะกลายเป็นความวิตกเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศทำสงครามกับเอลนีโญ การเดินทางตรวจสภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง ข้อสั่งการให้หน่วยราชการรับมือกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นถี่ยิบ ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2566 จะ “ลากยาว” ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี

ทว่าจากแบบจำลอง IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model Outlook ของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ NOAA ที่ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์เอลนีโญฉบับล่าสุดได้แจ้ง “ข่าวดี” ออกมาแล้วว่า ภูมิอากาศที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญปัจจุบันมีโอกาส “มากกว่า” 95% ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม 2567 เท่านั้น โดยสภาวะเอลนีโญครั้งนี้จะขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 หลังจากนั้นอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ณ จุดวัดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตร ตอนกลาง และด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เคยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติของปีก็จะค่อย ๆ ลดระดับลงมาจนถึงค่าปกติในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567

นั่นหมายความว่า สภาวะเอลนีโญรอบนี้จะสิ้นสุดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า ไม่ได้ยืดยาวไปถึง 3 ปีอย่างที่ทุกคนกลัวกัน

แต่ภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนทับทวีในประเทศ จากการเก็บสถิติพบว่า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนทับทวีเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ (1 ม.ค.-24 ก.ย. 2566) จะพบว่า ปริมาณฝนทั่วประเทศลดลงถึง 12% หากแยกรายภาคพบว่า ภาคกลางปริมาณฝนลดลงร้อยละ 30 ภาคตะวันออกลดลงร้อยละ 27 ภาคเหนือลดลงร้อยละ 18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงร้อยละ 6 ในขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกปริมาณฝนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และภาคใต้ฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5

นั่นแสดงให้เห็นว่า สภาวะเอลนีโญที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบหนักในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ส่วนภาคอีสาน กับภาคใต้ ได้รับผลกระทบน้อยมาก หรือไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย เพราะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

นอกจากนี้ สภาวะเอลนีโญยังส่งผลกระทบไปถึงจำนวนพายุไต้ฝุ่นที่พัดผ่านประเทศไทยด้วย จากพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นมากกว่า 14 ลูก พบว่าเมื่อพายุขึ้นฝั่งที่เวียดนาม จะลดระดับความรุนแรงลงจนกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศเท่านั้น ในประเด็นนี้เชื่อกันว่า ที่พายุไต้ฝุ่นลดความรุนแรงอาจเป็นผลมาจากสภาวะเอลนีโญ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ประสบภาวะอุทกภัยระดับรุนแรงเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ฝนที่ตกลงมากลับเป็นการ “เติมน้ำ” ให้กับอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็น

เขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,027 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 108 จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าเขื่อนมาโดยตลอด, เขื่อนอุบลรัตน์ 1,846 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 100, เขื่อนห้วยหลวง 126 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 98, เขื่อนน้ำอูน 436 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 92, เขื่อนน้ำพุง 142 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่ออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในเขื่อนภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 7,322 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 45

และหากรวมกับอีก 2 เขื่อนที่จะมีผลต่อการใช้น้ำในฤดูแล้งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็จะพบว่า ทั้ง 4 เขื่อนหลักมีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันถึง 8,762 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48 จากเป้าหมายการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2567 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ต้องการปริมาณน้ำที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 55 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีน้ำไหลลงอ่างโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นปัญหาในตอนนี้ก็คือ ด้วยปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันทั้งประเทศที่ 28,984 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 61% ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน (12 ตุลาคม 2566) ทำอย่างไรที่จะประคับประคองการใช้น้ำปริมาณนี้ให้ผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งไปให้ได้ ก่อนที่สภาวะเอลนีโญจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2567 หรือประเทศไทยก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตามปกติ