แรงงานไทยยังรอความช่วยเหลือ

บทบรรณาธิการ

ผ่านมา 12 วันแล้ว หลังจากที่ กลุ่มฮามาส ใช้พื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐปาเลสไตน์ ส่งอากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ จรวด และนักรบ บุกเข้าโจมตี อิสราเอล มีตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,100 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยที่เข้าไปใช้แรงงานในอิสราเอล 28 คน บาดเจ็บ 16 คน

และคาดว่าถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกันอีก 16 คน ในระหว่างการโจมตี วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยแรงงานไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับนักรบฮามาสโดยตรงจะอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงใกล้เคียงกับฉนวนกาซา จากการคาดการณ์น่าจะมีอยู่ระหว่าง 4,000-5,000 คน

แรงงานไทยเหล่านี้เข้าไปอยู่บริเวณพื้นที่อันตราย อันเนื่องมาจากเป็นแรงงานในภาคการเกษตร 1 ใน 4 สาขา ที่อิสราเอลอนุญาตให้นำเข้าแรงงานจากต่างประเทศได้ โดยการใช้แรงงานในภาคการเกษตรมีคนไทยถือครองตำแหน่งงานมากที่สุด หรือมากกว่าร้อยละ 95 ยิ่งต้องเข้าไปทำงานในนิคมการเกษตร “คิบบุตซ์” หรือ “โมชาฟ” ในพื้นที่ห่างไกล ก็ยิ่งได้รับค่าจ้างสูงขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่คนอิสราเอลไม่นิยมทำ เนื่องจากมีการใช้งานหนัก อันตรายและสกปรก

การเข้าไปใช้แรงงานในอิสราเอลของคนไทยที่ผ่านมาจะอยู่ในลักษณะของรัฐบาลไทยจัดส่งแรงงานเข้าไปในอิสราเอล เฉพาะปี 2566 กระทรวงแรงงานมีโควตาจัดส่งแรงงานเข้าไปทำงานในภาคการเกษตรถึง 6,500 คน โดยตัวเลขล่าสุด ณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา ของกระทรวงแรงงาน ปรากฏมีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอล คงเหลือเป็นจำนวน 25,877 คน ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอยู่ในขณะนี้

แน่นอนว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ แต่ประเทศไทยกลับได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม เมื่อมีแรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับตัวเลขแรงงานไทยถูกจับไปเป็นตัวประกันก็เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่รัฐบาลไทยก็ได้ดำเนินการให้การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน ล่าสุดตัวเลขได้ขยับขึ้นไปถึงกว่า 7,100 คนแล้ว และเชื่อว่าจะมีแรงงานไทยต้องการกลับบ้านเฉียด 10,000 คนแน่ ถ้าสงครามยังทวีความรุนแรงและไม่ยุติในระยะเวลาอันสั้น

ขณะที่เรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลไทยอีกประการหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือตัวประกันคนไทยให้ได้รับอิสรภาพ ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้า ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไทยก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอิสราเอลมากว่า 70 ปี และประเทศไทยเองยังให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์มาตั้งแต่ปี 2557 โดยฝ่ายไทยมีการตั้งสำนักงานดูแลอยู่ที่กรุงอัมมาน จอร์แดน

ขณะที่ปาเลสไตน์ก็ใช้สถานทูตในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย กลายเป็นความกระอักกระอ่วนที่ไทยประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่มีคนไทยเสียชีวิตและถูกจับไปเป็นตัวประกันเพิ่มขึ้น