ต้องดูแลเยียวยาแรงงานไทย

แรงงานไทย
แรงงานไทย
บทบรรณาธิการ

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังคงดำเนินต่อไป โดยมีทีท่าว่าจะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งจากการใช้เครื่องบินโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดมากกว่า 6.5 พันคน

ขณะที่ทุกฝ่ายยังกังวลกันว่า ตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากอิสราเอลตัดสินใจส่งทหารเข้าไปยังฉนวนกาซา เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาสตามที่ประกาศไว้ ท่ามกลางการจับจ้องของทุกฝ่ายที่ว่า สงครามอาจจะขยายวงกว้างหากมีประเทศที่สามเข้าร่วมสงคราม ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม

ด้านสถานการณ์แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลทั้งในและนอกพื้นที่เสี่ยง จากตัวเลขของกระทรวงแรงงาน ระบุจำนวนแรงงานไทยประมาณ 29,900 คน หลังจากสงครามดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ปรากฏมีแรงงานไทยมาลงทะเบียนขอกลับประเทศแล้วเป็นจำนวน 8,478 คน ในจำนวนนี้เดินทางกลับมาถึงไทยแล้วเป็นจำนวน 3,315 คน โดยผู้ลงทะเบียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจจะมากกว่า 10,000 คน หากสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงงานไทยถูกจับไปอีก 19 คน บาดเจ็บ 18 คน และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 31 คน

การกลับเข้ามาของแรงงานไทยที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและตัวผู้ใช้แรงงานเองโดยตรง เนื่องจากเป็นการส่งกลับโดยสมัครใจในภาวะการเกิดสงคราม ทั้ง ๆ ที่สัญญาจ้างงานยังไม่สิ้นสุด นั้นหมายความว่ารายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าไปรับจ้างทำงานในอิสราเอลหายไปด้วย ขณะที่แรงงานไทยบางส่วนยังติดหนี้ยืมสินเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าไปทำงานในอิสราเอลก็ยังชำระคืนไม่หมด โดยภาระที่เกิดขึ้นเหล่านี้ หลังการเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ ทางกระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการ

หนึ่ง เยียวยาให้กับแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครองเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย กระทรวงแรงงานจะจ่ายให้รายละ 15,000 บาท ทันทีตามสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงคราม

สอง การหางานใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงแรงงานจะเจรจาประสานให้กับแรงงานไทยที่ยังไม่หมดสัญญาและประสงค์จะกลับไปทำงานที่อิสราเอล

สาม หากแรงงานประสงค์จะเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่น ๆ หรือหางานทำในประเทศ กระทรวงแรงงานก็พร้อมที่จะหางานให้ โดยสามารถแจ้งมาได้ที่กรมการจัดหางาน

สี่ การฝึกทักษะฝีมือเพื่อรองรับการประกอบอาชีพใหม่ และ ห้า อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ที่อิสราเอลจะประสานนายจ้างเพื่อดำเนินการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่าย แต่ในส่วนนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา โดยการช่วยเหลือทั้งหมดนี้จึงนับเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วน หลังนำแรงงานไทยกลับบ้าน เพื่อให้แรงงานไทยได้รับการเยียวยาและดูแลที่ดีที่สุดเท่าที่รัฐบาลพึงจะกระทำได้