เร่งอพยพแรงงานไทยกลับประเทศ

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม หรือผ่านพ้นมาเกือบ 1 เดือน ยังไม่มีท่าทีจะลดความรุนแรงลง โดยฝ่ายอิสราเอลได้ตัดสินใจยกระดับการปฏิบัติการเป็นระดับขั้นที่ 2 หรือการส่งรถหุ้มเกราะ-รถถัง พร้อมทหารเคลื่อนพลภาคพื้นดินเข้าไปในพื้นที่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซามากขึ้น

หลังจบปฏิบัติการขั้นที่ 1 ด้วยการใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศต่อสิ่งที่เรียกว่า พื้นที่เป้าหมายทางทหารของกลุ่มฮามาสมาตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารวิเคราะห์ว่า ปฏิบัติการขั้นที่ 2 จะขยายระยะเวลาเนิ่นนานออกไป ไม่ใช่การบุกโจมตีขั้นเด็ดขาด เนื่องจากจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นในฉนวนกาซา

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้ปฏิเสธคำเรียกร้องจากนานาชาติให้ “หยุดยิง” ในฉนวนกาซา พร้อมกับเปิดการเจรจากับกลุ่มฮามาส ผ่านประเทศตัวกลาง โดยเนทันยาฮูกล่าวว่า การหยุดยิงจะเท่ากับการยอมแพ้ให้ฮามาส หรือตอกย้ำว่า

ห้วงเวลานี้คือเวลาของสงคราม ยิ่งทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประเทศผู้เกี่ยวข้องที่กลัวกันว่า สงครามจะขยายวงจากอิสราเอล-ฮามาส ในฉนวนกาซา ไปสู่ประเทศหรือดินแดนข้างเคียงอื่น ๆ นั้นหมายความว่า จะยังไม่มีสันติภาพ แม้จะเป็นแบบชั่วคราวก็ตาม

ในขณะที่การดำเนินการของประเทศไทย แม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่คนไทยที่เข้าไปใช้แรงงานในประเทศอิสราเอล มากกว่า 29,900 คน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามครั้งนี้ ล่าสุดมีแรงงานไทยถูกจับตัวไป 22 ราย บาดเจ็บ 19 ราย เสียชีวิต 32 ราย ส่งร่างกลับประเทศไทยแล้ว 15 ราย และมีแรงงานไทยที่แสดงเจตจำนงที่จะกลับประเทศ 8,478 คน ส่งกลับถึงประเทศไทยแล้ว 6,785 คน

ซึ่งเป็นการกลับมาโดยสมัครใจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นที่ว่า กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้คนไทยในอิสราเอลเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และขอเชิญชวนให้ญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทยช่วยแจ้งให้พี่น้องแรงงานที่ยังตัดสินใจอยู่ในอิสราเอลให้พิจารณาเปลี่ยนใจกลับประเทศโดยเร็วที่สุด

ทว่าด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของแรงงานไทย หมายถึง การทิ้งค่าจ้าง-รายได้จากการทำงานที่ประเทศอิสราเอล นับเป็นค่าจ้างที่สูงมาก ซึ่งจูงใจให้แรงงานไทยตัดสินใจอยู่ต่อ ในขณะที่รัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้แรงงานไทยกลับบ้าน

โดยล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือจูงใจด้วยการสัญญาว่า แรงงานไทยทุกคนที่เดินทางกลับได้รับเงินชดเชยคนละ 50,000 บาท และมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว คนละไม่เกิน 150,000 บาท แม้จะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลที่จะเยียวยาแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการตกงานโดยทันที