สามเหลี่ยม “แบตเตอรี่” กำลังถูกท้าทาย

แบตเตอรี่รถอีวี
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อมร พวงงาม

จำได้ว่าตอนที่พูดเรื่องรถ EV ในไทย “จะเกิดหรือไม่เกิด” เมื่อหลายปีก่อน

ทุกวงสนทนาโต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดง บางคู่เกือบลงไม้ลงมือ

ถึงวันนี้คนที่ไม่เชื่อว่าจะเกิด เริ่มยอมรับว่ามีแนวโน้มดีขึ้น

ยอดจดทะเบียนรถ EV สะสมสิ้นสุดปี 2566 ทะลุแสนคัน

เม็ดเงินลงทุนผลิตรถ EV ปีนี้ 7 โรงงานเฉียดแสนล้านบาท

แรงผลักสำคัญ ไม่มีใครปฏิเสธฝีมือรัฐบาลและบีโอไอ

แต่ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า การชักชวนต่างชาติมาลงทุนในอุตฯรถ EV

ประเทศไทยได้อะไรบ้าง ? ในเมื่อการลงทุนโดยเฉพาะจีนมาแบบเต็มแพ็กเกจ

ขนซัพพลายเออร์ตามมาเป็นพรวน เราได้อย่างมากก็แค่ “ค่าแรง”

ยิ่งรถ EV คำตอบสำคัญคือ “แบตเตอรี่”

ใครมีวัตถุดิบหรือแร่ธาตุผลิตแบตเตอรี่จะกลายเป็น “ผู้กุมชะตาโลก”

เหมือนกลุ่ม “โอเปก” ที่เคยกุมชะตารถใช้น้ำมันมาแล้ว

แบตเตอรี่ใช้แร่หลัก 2 อย่างในการผลิต คือ ลิเทียม และโคบอลต์

พบมากใน 3 ประเทศ คือ โบลิเวีย, ชิลี และอาร์เจนตินา

พื้นที่ตรงนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็น “Lithium Triangle” หรือสามเหลี่ยมแบตเตอรี่

มีลิเทียมมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

ส่วนเอเชีย ที่สำรวจพบแค่ “อินเดียกับอินโดฯ” ที่อื่นยังไม่ปรากฏ

แต่ล่าสุด คนไทยได้เฮ เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพถึง 2 แหล่ง

ได้แก่ “แหล่งเรืองเกียรติ” และ “แหล่งบางอีตุ้ม” พบแร่ดิบลิเทียมสูงถึง 14.8 ล้านตัน ที่จังหวัดพังงา

หนำซ้ำยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานอีกจำนวนมาก

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยืนยันว่า ทั้ง 2 แหล่งนี้ จะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

พอเหมาะพอเจาะกับเป้าหมายการผลิตรถ EV ของรัฐบาลไทย ที่ออกเป็นนโยบาย 30@30

ยืนยันว่าในปี 2573 จะผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ

ปรากฏการณ์แบบนี้ ใครเห็นก็ต้องเชื่อว่า “สามเหลี่ยมแบตเตอรี่ของโลก” กำลังถูกท้าทาย