ประเทศไทย …จะไปทางไหน

เศรษฐา ทวีสิน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

เดือนแรกของศักราชใหม่ ปี 2567 เดือนมกราคมกำลังจะผ่านไป ครับ…วันเวลามันช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน

กลับมานั่งนับนิ้ว (มือ) ดู วันนี้ รัฐบาลท่านนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็เข้ามาบริหารประเทศได้ 5 เดือนเข้าไปแล้ว

หากยังจำกันได้ เมื่อกลาง ๆ เดือนธันวาคม 2566 ท่านนายกฯก็ได้แถลงผลงาน 90 วัน ผ่านทีวีช่อง NBT มีผลงานมากมาย ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

เริ่มจากการลดรายจ่าย ที่มีทั้งลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซล ลดราคารถไฟฟ้า (สีม่วงและสีแดง), ช่วยชาวนา-ชาวไร่อ้อย, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (เป็นวาระแห่งชาติ), พักหนี้เกษตรกร, บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ (นำร่อง 4 จังหวัด แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส)

ขณะที่นโยบายเพิ่มรายได้ก็ไม่น้อยหน้า ไล่เรียงตั้งแต่กระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยมาตรการวีซ่าฟรีนักท่องเที่ยว ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ (ปริญญาตรี) และการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ขยายเวลาปิดสถานบริการ (นำร่อง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และชลบุรี) ขยายเวลาการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง

รวมถึงผลักดันกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โครงการดิจิทัลวอลเลต (ที่จนถึงวันนี้ไม่รู้ว่าจะลงเอยและเดินหน้าโครงการต่ออย่างไร)

สรุปว่า ผลงานรัฐบาลยาวเป็นหางว่าวเลยทีเดียว

แต่สำหรับคนที่อาจจะใจร้อนหน่อย อาจจะบ่นว่ายังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเลย โดยเฉพาะเศรษฐกิจปากท้อง ที่วันนี้คนไทยส่วนใหญ่ต่างอยู่ในอาการสาละวันเตี้ยลง

ที่ผ่านมา แม้ว่าหลาย ๆ ฝ่ายอาจจะคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในภาพรวมปีนี้น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และดีกว่าปีที่ผ่านมา

แต่ล่าสุด เท่าที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจระดับซีอีโอธุรกิจขนาดกลางหลายท่านและหลากหลายธุรกิจ และถามถึงมุมมองเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทุกท่านล้วนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้เท่าไหร่นัก

นอกจากภาวะสงคราม และ Geopolitic ที่อยู่นอกเหนือการคอนโทรลของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นตัวแปรหลักที่จะฉุดสถานการณ์เศรษฐกิจโลกให้ดำดิ่งแล้ว

เมื่อกลับมามองเฉพาะที่หน้าตัก ประเทศไทยของเราเองก็ยังมีหลายเรื่องที่ไม่แน่นอน และบางเรื่องยังมีความเปราะบางอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก เป็นที่รู้กันมานานคืองบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า ที่ทำให้ไม่มีเม็ดเงิน (ก้อนใหญ่) เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ตามมาด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้บัตรเครดิต หนี้ไฟแนนซ์ สารพัดหนี้ที่มีมากมาย ที่ส่งผลในแง่ของการบั่นทอนกำลังซื้อและการจับจ่าย

และที่เป็นฮอตอิสชูที่บรรดานักธุรกิจจับตามองและเป็นห่วงมากในเวลานี้ก็คือ ปัญหาหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจะมีเงินมาจ่ายหรือไม่ ? หากไม่มีเงินคืนจะแก้ปัญหาอย่างไร ?

อะไรจะเกิดขึ้นตามมา

หลายคนยังลุ้นต่อไปอีกว่า เหตุการณ์ในทำนองนี้จะลุกลามเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

หรือแม้แต่การบูมโครงการแลนด์บริดจ์ที่มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่ไปเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุน อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้โปรเจ็กต์ยักษ์อีอีซีดูเหมือนจะแผ่ว ๆ ลงไป

อีอีซีจะแจ้งเกิดได้อย่างที่ตั้งใจหรือไม่ โครงการแลนด์บริดจ์จะเดินหน้าต่ออย่างไรหรือไม่

นี่เป็นคำถามที่นักลงทุนต่างชาติยังรอคำตอบ

และเมื่อถามซีอีโอต่อว่า จากนี้ไปจะขยับขยายการลงทุนอะไรใหม่ ๆ หรือไม่

คำตอบที่ได้คือ หลายคนบอกว่า แม้จะมีโครงการการลงทุนใหม่ ๆ แต่ก็ไม่รีบ ขอรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน

เพียงเท่านี้ก็ชัดเจนมากพอแล้ว ว่าเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร !