การขับเคลื่อนนวัตกรรมในเชิงระบบ กรณีศึกษาภาคการเงินดิจิทัลของมาเลเซีย

มาเลเซีย
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยกัน
ผู้เขียน : แบ๊งค์ งามอรุณโชติ 
       ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STIPI) มจธ.

การพัฒนานวัตกรรมเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องการแรงขับเคลื่อนพร้อมกันจากหลายด้าน ประกอบไปด้วย 1.ด้านนโยบาย ระบบกฎหมายและสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดี 2.โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ดี 3.พฤติกรรมผู้บริโภคและความพร้อมของตลาด 4.บริษัทที่มีขีดความสามารถสูง เพียงพอจะเรียนรู้และสรรค์สร้างนวัตกรรมได้ 5.แรงงานที่มีทักษะสูงและเหมาะสม และ 6.แหล่งที่มีของความรู้และนวัตกรรมที่ดี เป็นต้น องค์ประกอบเหล่านี้เรียกโดยรวมว่า ระบบนวัตกรรม (Innovation System)

การพัฒนาแบบแยกส่วนจะทำให้เกิดผลลัพธ์น้อย รัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้ปรับตัวด้านนวัตกรรม จึงควรคิดมาตรการที่รอบด้านทั้งระบบ ตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้คือ การปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลของระบบการเงินมาเลเซีย ซึ่งผู้เขียนได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

ด้านนโยบายและระบบกฎหมาย รัฐบาลมาเลเซียออกนโยบายและกฎหมายที่กระตุ้นให้ภาคการเงินปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลตั้งแต่ช่วงเริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ MSC Malaysia ค.ศ. 1996 หลังจากนั้นจึงเกิดแผนสำคัญ เช่น แผนแม่บทอุตสาหกรรมการเงินมาเลเซียฉบับที่ 3 ซึ่งระบุถึงการเงินดิจิทัลเอาไว้, กรอบแนวคิดในการทดลองนวัตกรรมทางการเงินแบบจำกัดผลกระทบ หรือที่คนไทยเรียกทับศัพท์ติดปากว่า “แซนด์บอกซ์” (Financial Technology Regulatory Sandbox Framework : 2016) และแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซีย MyDigital (2021-30) เป็นต้น

ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล มาเลเซียลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลต่อเนื่อง ปัจจุบันมาเลเซียมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 99% ของประชากร และมีดัชนีความพร้อมใช้งานระบบคลาวด์ (Cloud Readiness Index) ลำดับสูงกว่าไทย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน และเวียดนาม มากไปกว่านั้นข้อมูล Digital Intelligence Index พบว่ามาเลเซียมีพัฒนาการด้านดิจิทัลโดดเด่น (Standout Group) อยู่ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น กล่าวได้ว่ามาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรง

ด้านการปรับตัวของผู้บริโภค ชาวมาเลเซียปรับตัวใช้บริการการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็วหลังเกิดวิกฤต COVID-19 ข้อมูลระหว่างปี 2019 และ 2022 พบว่าการถอนเงินสดจากตู้ ATM ต่อหัวประชากรมีมูลค่าลดลง 51% ในทางกลับกันมูลค่าการชำระเงินผ่านธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) เพิ่มขึ้นจาก 203,845 ล้านริงกิต เป็น 1,141,407 ล้านริงกิต หรือเพิ่ม 460%, การชำระเงินผ่านธนาคารทางอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) เพิ่มขึ้น 37.5% การใช้บัตรเครดิตและเดบิตแบบไม่เห็นหน้าล้วนเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ชี้ว่าผู้บริโภคปรับตัวเข้าสู่ระบบการเงินดิจิทัลอย่างแข็งขัน

ด้านการปรับตัวของผู้ให้บริการทางการเงิน ในกลุ่มธนาคาร ธนาคารพาณิชย์และธนาคารอิสลามทุกแห่งในมาเลเซีย มีบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) และธนาคารทางโทรศัพท์มือถือแล้วในปัจจุบัน แปลว่าการปรับบริการการเงินแบบดั้งเดิมให้เข้ามาสู่ระบบดิจิทัลกลายเป็นเรื่องพื้นฐานไปแล้ว สำหรับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค (FinTech) จากข้อมูลปี 2022 ซึ่งสำรวจฟินเทคในมาเลเซียราว 294 บริษัท พบว่ามีบริษัทเน้นให้บริการธุรกรรมชำระเงิน 19%, ให้บริการกู้ยืมเงิน 17% และให้บริการกระเป๋าตังอิเล็กทรอนิกส์ 13%

การปรับตัวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้แก่ การรวมกลุ่มเพื่อขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารดิจิทัล (ไร้สาขา) ซึ่งมักเกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารแบบดั้งเดิม ฟินเทค และผู้ให้บริการที่มีความได้เปรียบด้านเครือข่าย เช่น บริษัทค้าปลีกค้าส่ง และโทรคมนาคม เป็นต้น ปัจจุบันมีห้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง GXS Bank และ KUOK Brothers กลุ่มที่สอง Sea Group และ YTL Digital กลุ่มที่สาม Boost และ RHB Bank กลุ่มที่สี่ KAF Investment Bank Consortium และ กลุ่มที่ห้า AEON Group และ Money Lion

ด้านตลาดแรงงาน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงินดิจิทัลมีความต้องการแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งปริมาณและทักษะ โดยเฉพาะทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องดิจิทัล และด้านความปลอดภัยไซเบอร์ รัฐบาลตอบสนองโดยประกาศยุทธศาสตร์ทักษะด้านดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Skills Strategy) ในปี 2019 กระทรวงอุดมศึกษามาเลเซีย ริเริ่มโครงการ National Techxcel Program ให้มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่นักศึกษา นอกจากนี้หน่วยงานรัฐอื่น ๆ อาทิ TalentCorp และ Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) ก็เข้ามามีบทบาทส่งเสริมอย่างใกล้ชิด

ด้านแหล่งความรู้และเทคโนโลยี ในแง่ความรู้ นักวิชาการมาเลเซียให้ความสำคัญต่อการตีพิมพ์ความรู้ด้านการเงินดิจิทัลค่อนข้างมาก จากข้อมูลในฐานข้อมูล SCOPUS พบว่านักวิชาการมาเลเซียตีพิมพ์หัวข้อ ธนาคารบนมือถือ, ธนาคารดิจิทัล และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์สูงติดอันดับโลก ในแง่เทคโนโลยี ธนาคารโลกระบุว่าในปี 2021 มาเลเซียส่งออกสินค้าเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม (ICT) มากถึง 32% ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งสูงกว่าจีน (25.5%) และไทย (16%)

กล่าวได้ว่ามาเลเซียมีความโดดเด่นด้านสินค้า ICT ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อบริการดิจิทัล มากไปกว่านั้นมาเลเซียส่งออก “บริการ ICT” คิดเป็น 15% ของมูลค่าดุลการชำระเงินทั้งประเทศ ในขณะที่ไทยส่งออกเพียง 1.3% เท่านั้น

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลของการเงินมาเลเซียเหมือน “เกมวิ่งผูกขา” ที่หลายฝ่ายต้องเดินหน้าด้วยจังหวะที่สอดประสานกัน ไม่เช่นนั้นการพัฒนาก็จะสะดุดล้ม เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมาพร้อมกับกฎหมายที่เอื้อให้เอกชนปรับตัว และต้องมาพร้อม ๆ กับการพัฒนาตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการ รวมถึงการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ สำคัญคือการวิ่งผูกขานี้ต้องการความต่อเนื่องแบบ “วิ่งมาราธอน” ด้วย เพราะเป็นกระบวนการที่กินระยะเวลายาวนานมากกว่า 20 ปี การพัฒนาเชิงระบบจึงเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำครับ !!!